บริษัทตั้งใหม่เดือน ก.ย. 7,107 ราย ลด 1.55% เป็นตามฤดูกาลของปลายปี

จดทะเบียนธุรกิจใหม่
ภาพจาก Canva

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยบริษัทจัดตั้งใหม่เดือน ก.ย. 2566 มีจำนวน 7,107 ราย ลด 1.55% เหตุเป็นไปตามฤดูกาลที่จะจัดตั้งสูงในช่วงต้นปีและลดลงในช่วงปลายปี รวม 9 เดือน ตั้งใหม่ 68,665 ราย เพิ่ม 12.94% สูงสุดรอบ 10 ปี

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน ก.ย. 2566 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 7,107 ราย ลดลง 4.27% เมื่อเทียบกับ ส.ค. 2566 และลดลง 1.55% เมื่อเทียบกับ ก.ย. 2565 เนื่องจากเป็นไปตามฤดูกาลของการจดทะเบียนที่จะมีแนวโน้มการจดจัดตั้งสูงในช่วงต้นปีและลดลงในช่วงปลายปี มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 24,170.64 ล้านบาท

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 562 ราย คิดเป็น 8% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 529 ราย คิดเป็น 7% รองลงมา และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 344 ราย คิดเป็น 5%

               
จิตรกร ว่องเขตกร
จิตรกร ว่องเขตกร

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,039 ราย เทียบกับ ส.ค. 2566 เพิ่ม 7.50% เทียบกับ ก.ย. 2565 เพิ่ม 4.78% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ 17,229.98 ล้านบาท ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 167 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 103 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 68 ราย คิดเป็น 3%

ธุรกิจจัดตั้งใหม่ไตรมาส 3 ปี 2566

ทั้งนี้ จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 3/2566 จำนวน 21,379 ราย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 จำนวน 21,104 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 275 ราย คิดเป็น 1.3% และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 จำนวน 20,495 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 884 ราย คิดเป็น 4.31%

ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,691 ราย คิดเป็น 8% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,491 ราย คิดเป็น 7% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 1,046 ราย คิดเป็น 5%

ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ประจำไตรมาส 3/2566 มีจำนวน 5,913 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 31,795.92 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 514 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 291 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 164 ราย คิดเป็น 3%

สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 9 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีจำนวน 68,665 ราย เพิ่มขึ้น 12.94% โดยเป็นจำนวนการจัดตั้งใหม่รวมสูงสุดในรอบ 10 ปี และจดทะเบียนเลิก จำนวน 13,010 ราย เพิ่มขึ้น 13.74%

อย่างไรก็ดี ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ 30 กันยายน 2566 จำนวน 885,521 ราย มูลค่าทุน 21.50 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 200,156 ราย คิดเป็น 22.60% บริษัทจำกัด จำนวน 683,936 ราย คิดเป็น 77.24% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,429 ราย คิดเป็น 0.16%

ท่องเที่ยวหนุนตั้งธุรกิจ

นายจิตรกรกล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้น ยังคงมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในช่วง 9 เดือน ของปี 2566 มีการจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นถึง 54.32% เช่น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพิ่ม 185% ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง เพิ่ม 116% ธุรกิจจัดนำเที่ยว เพิ่ม 83.65% ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร เพิ่ม 41.74% และธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และห้องชุด เพิ่ม 35.75% มีสัดส่วนคิดเป็น 8.01% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน่าจับตามองที่เติบโตกว่า 150% เช่น ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช เพิ่ม 169% คาดว่าเป็นผลมาจากนโยบาย BCG Model ที่ส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก และธุรกิจกิจกรรมบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง เพิ่ม 165% คาดว่าเป็นผลมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาเติบโต

ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กรมได้คาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ประมาณ 32,000-39,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 79,000-86,000 ราย

การลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าว

เดือนกันยายน 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น มีจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 22 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 37 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,229 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 จำนวนธุรกิจที่คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 2% (เพิ่มขึ้น 1 ราย) ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1.67 เท่า (เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท)

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 948 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อเมริกา จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 916 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 6 ราย เงินลงทุน 6,524 ล้านบาท

ปี 2566 (มกราคม-กันยายน) คนต่างชาติได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ จำนวน 493 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 84,013 ล้านบาท