ทำไม OR เลือก “กัมพูชา” เป็นบ้านหลังที่สอง

“โออาร์” เดินหน้านโยบายการลงทุนธุรกิจต่างประเทศ ทั้งในส่วนของธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก พร้อมประกาศให้ “กัมพูชา” เป็นบ้านหลังที่สอง น่าสนใจว่าทำไม “โออาร์” ถึงเลือกประเทศกัมพูชาเป็นบ้านหลังที่สอง ทั้งที่มีกำลังซื้อจากประชากรแค่ 16-17 ล้านคนเท่านั้น

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เปิดเผยถึงแผนการขยายธุรกิจของโออาร์ในต่างประเทศ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศที่ OR ดำเนินการอยู่ เพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ

โดยในการขยายธุรกิจต่างประเทศของโออาร์มี PTT Station และร้านคาเฟ่อเมซอน เป็น backbone หรือกระดูกสันหลัง ก่อนขยายไปสู่สินค้าบริการอื่น ๆ เป็นการนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในกัมพูชาและประเทศอื่น ๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วน EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย+ภาษี) ของกลุ่มธุรกิจต่างประเทศเป็น 15% ในปี 2570 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 7%

ดิษทัต ปันยารชุน
ดิษทัต ปันยารชุน

“การดำเนินธุรกิจต่างประเทศไม่ง่าย ต้องเข้าใจทั้งวัฒนธรรมและการเมืองของประเทศนั้น ๆ และสิ่งสำคัญต้องเลือกพาร์ตเนอร์ให้ถูก”

สำหรับการลงทุนต่างประเทศของโออาร์ ตอนนี้มุ่งเน้น 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ 1.กัมพูชา ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของโออาร์ 2.ฟิลิปปินส์ 3.สปป.ลาว และ 4.เวียดนาม ซึ่งทั้ง 4 ประเทศนี้ โออาร์มีการตั้งบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจ

ADVERTISMENT

นายดิษทัตอธิบายว่า กัมพูชาเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของโออาร์ แม้ว่าเป็นประเทศที่มีประชากรแค่ 16-17 ล้านคน เนื่องจากเป็นประเทศที่โออาร์มีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีโรงกลั่น ซึ่งหมายความว่าน้ำมันที่ใช้ในกัมพูชาเป็นการนำเข้า 100% ในขณะที่โออาร์ถือว่ามีความได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่น ๆ เพราะการขนส่งน้ำมันจากไทยไปกัมพูชามีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะด้วยระยะทางที่ใกล้ และเป็นการขนส่งน้ำมันทางเรือ

เรียกว่าลงเรือจากศรีราชามากัมพูชาใช้เวลาแค่วันกว่า ๆ แต่ถ้าเป็นการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ต้องใช้เวลาเดินทางราว 3 วัน ขณะที่ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเยอะ ก็เป็นโอกาสของโออาร์ในการที่จะส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญคือตลาดน้ำมันในกัมพูชาเป็นฟรีมาร์เก็ต ไม่มีการคุมราคาขาย ทำให้ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมีอัตรากำไรที่ค่อนข้างดี นอกจากนี้กฎหมายของกัมพูชาก็เปิดกว้างสำหรับการลงทุนของบริษัทต่างชาติ

ADVERTISMENT

“ขณะนี้โออาร์มีแผนขยายการลงทุนในกัมพูชาหลายโครงการ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่ากัมพูชาสำคัญกว่าประเทศอื่น แต่วันนี้ถึงเวลาลงทุนในกัมพูชา”

นายดิษทัตกล่าวว่า ปัจจุบันในกัมพูชาโออาร์มีสถานีบริการพีทีที สเตชั่น 169 สาขา และคลังเก็บน้ำมัน 7 แห่ง และกำลังหาพื้นที่เพื่อขยายการลงทุนสร้างคลังน้ำมันขนาดใหญ่กว่าที่มีอยู่เดิม 2-3 เท่า รวมถึงคลังน้ำลึก และคลังก๊าซ LPG เพื่อรองรับแผนขยายธุรกิจก๊าซแอลพีจีในกัมพูชา

จากที่ผ่านมาได้ร่วมลงทุนในบริษัทร่วมค้า เพื่อให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีกำหนดแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2567 สำหรับกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ (น็อนออยล์) ในกัมพูชา ขณะนี้มีร้านคาเฟ่อเมซอนอยู่ 231 สาขา และร้านสะดวกซื้อ 65 สาขา รวมถึงแสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจพลังงานอื่น ๆ

ทั้งนี้บริษัท PTT (CAMBODIA) Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของโออาร์ ได้มีการตั้งสำนักสาขาเพื่อดำเนินธุรกิจในกัมพูชาตั้งแต่ปี 1995 และได้เปิดร้านคาเฟ่อเมซอนสาขาแรกในกัมพูชาเมื่อปี 2013 ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวกัมพูชาจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันมีการขยายไปแล้วถึง 231 สาขา รวมถึงการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ และในปี 2023 นี้ก็ได้เริ่มดำเนินธุรกิจอีวี โดยเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ 3 แห่ง และสถานี battery swapping สำหรับรถสามล้ออีวี รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรเปิดร้านสะดวกซัก Otteri wash & dry แห่งแรกในกัมพูชา