
เลขาธิการบีโอไอ ย้ำภารกิจเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับนักลงทุนต่างชาติ ยกระดับ SMEs ไทยให้มีที่ยืนในห่วงโซ่อุปทานโลก ทั้งเผยผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยมีส่วนในการผลิตป้อนแบรนด์รถยนต์อีวีดังมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้าน ด้าน ‘WHA’ ย้ำขายที่ดินในนิคมฯดึงเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพคนไทย
วันที่ 28 ตุลาคม 2566 จากที่หลายฝ่ายมีความห่วงว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมากของนักลงทุนจีนอาจเข้าข่าย ‘FDI ศูนย์เหรียญ’ ที่มักเข้ามาแบบยกโรงงานครบวงจร แม้แต่แรงงาน เช่นเดียวกับกรณี ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ นั้น
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- EV จีน ทุบราคาเลือดสาด ฉางอาน-กว่างโจวท้ารบ BYD เกทับลดอีกแสน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย ‘ประชาชาติธุรกิจ’ว่าการลงทุนจากนักลงทุนจีนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มดิจิทัล
ซึ่งบีโอไอให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ เพื่อทำให้เกิดการจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากที่สุด รวมทั้งเกิดความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจนำไปสู่การร่วมทุนระหว่างไทยและต่างชาติได้
เชื่อมโยงสร้าง Supply chain
และในการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ EV อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติ หัวใจสำคัญคือ การมี Supply Chain ที่ครบวงจรและเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกด้วย
นายนฤตม์กล่าวด้วยว่าบีโอไอจึงมีนโยบาย และการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งาน Subcon Thailand, งาน Subcon EEC, งานตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน, งาน Sourcing Day สำหรับบริษัทเป้าหมาย เพื่อช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติสามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด
‘เรามองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ว่ามีทักษะสูง มีคุณภาพ และมาตรฐานสากล อีกทั้งได้สั่งสมประสบการณ์ในการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทชั้นนำมากมาย จึงมองเห็นโอกาสที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs ไทย เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ด้วย
โดยที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงให้ผู้ผลิตอีวีที่เข้ามาลงทุนในไทย พบกับ ผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายค่าย อาทิ BYD ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสมัครเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น จำนวน 453 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัท SMEs 147 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 32.42 ซึ่ง BYD มีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมเจรจา 177 บริษัท
และได้เชิญบริษัทที่มีศักยภาพสูงของอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อเข้าร่วมเจรจา จำนวน 9 บริษัท มีบริษัทที่เชื่อมโยงทั้งสิ้น 126 บริษัท และ เป็น SMEs 61 บริษัท มีมูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม 22,062.5 ล้านบาท
ผู้ผลิตรถ NETA มีผู้ประกอบการในประเทศเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 254 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นบริษัท SMEs จำนวน 88 บริษัท NETA คัดเลือกผู้เข้าร่วมเจรจา จำนวน 46 บริษัท ในจำนวนนี้เป็นบริษัท SMEs จำนวน 11 บริษัท มีมูลค่าการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม มูลค่า 877.5 ล้านบาท
นิคมฯดึงทุนนอกปั๊มเศรษฐกิจ
ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีทองของธุรกิจนิคมฯ ในส่วน WHA มีนักลงทุนเข้ามาขยายการลงทุน
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 4 แบรนด์ คือ MG BYD GW และฉางอาน และกำลังเจรจากับนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุปโภคบริโภคด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปีหน้า
สำหรับนักลงทุนที่เข้ามาใน WHA ส่วนใหญ่ 50% เป็นจีน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยังมีไต้หวันที่สนใจเข้ามาลงทุนเพิ่ม ผลจากสงครามการค้าสหรํฐ-จีน ทำให้นักลงทุนต้องการย้ายฐานลงทุน โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ไต้หวัน ที่หากยังผลิตในจีนอาจจะส่งออกไปสหรัฐหรือสหภาพยุโรปไม่ได้จึงต้องมองหาแหล่งลงทุนอื่น ซึ่งอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย และเวียดนามเป็นหนึ่งในนั้น
“อยากให้มองว่าสิ่งแรกเลยเมื่อการลงทุนโดยตรง (FDI) เข้ามา ทำให้เกิดการลงทุนมีเม็ดเงินเข้ามา ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยเฉพาะในซัพพลายเชน และได้รายได้จากการส่งออก เราดึงนักลงทุนที่เป็นเมคเน็ทเข้ามา แน่นอนว่าจะทำให้มีการชักชวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในคลัสเตอร์เดียวกันเข้ามาด้วยส่วนหนึ่ง
และมีการใช้ซัพพลายเชนในไทยด้วยส่วนหนึ่ง เพราะลองคิดดูว่าหากเขาต้องย้ายไปทั้งซัพพลายเชนก็สามารถไปลงทุนที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาไทย ไปเวียดนามก็ได้ แต่ปัญหาคือ หากต้องไปสร้างซัพพลายเชนที่เวียดนามใหม่ทั้งหมดคงไม่คุ้ม
ขณะที่ไทยมีจุดดีอยู่แล้วเขามาเพราะรู้ว่าเรามี Ecosystems ซึ่งเปรียบเหมือนกับญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทยสมัยก่อนก็มีการดึงซัพพลายเออร์มา ขณะเดียวกันก็มีโรงงานจากไทยที่พัฒนาตนเองเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ด้วย”
นางจรีพรกล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีกฎหมายนิคมอุตสาหกรรมที่ให้ต่างชาติมาซื้อที่ดินในนิคมฯได้ โดยที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน ต่างจากที่ดินนอกนิคมอุตสาหกรรมที่จะซื้อไม่ได้ต่างชาติสามารถเช่าได้เท่านั้น ยกเว้นบีโอไอจะให้สามารถซื้อที่ดินนอกนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งบีโอไอจะให้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริมการลงทุน
“อย่ากังวลเรื่องการซื้อขายที่ดิน หลายๆคนนึกว่าขายชาติ การขายที่ดินในนิคมฯมีมานานแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจว่า เราขายที่ดินได้ 2,000-3,000 ล้าน แต่ต่างชาติที่มาเขาเอาเงินลงทุนเข้ามาในประเทศไทยเป็นหมื่นล้าน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างงานสร้างอาชีพ และการเลือกพันธมิตรของเรามองถึงประโยชน์ภาพรวมประเทศ”