กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศฉบับใหม่ คนทิ้งกากขยะอุตสาหกรรมต้องจ่าย มีผลบังคับใช้แล้ว แกะรายละเอียด กระทบใคร ต้องทำอะไรบ้าง
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นับเป็นวันแรกของการใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 อย่างเต็มรูปแบบ โดยนำหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle หรือ PPP) เพื่อให้ผู้ก่อกำเนิดของเสียเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนการกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่าขยะอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการกำจัด
“ประชาชาติธุรกิจ” จะมาสรุปเพื่อทำความเข้าใจประกาศนี้แบบง่าย ๆ ว่า ประกาศนี้ใครได้รับผลกระทบและต้องทำอะไรบ้าง ตลอดจนทำความเข้าใจเรื่อง PPP คืออะไร
ประกาศนี้ ใครต้องทำอะไร
โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 โดยนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือผู้รับผิดชอบมาใช้ ที่เริ่มประกาศใช้วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ตลอดจนป้องกันการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อ 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่
1) ผู้ก่อกำเนิดของเสีย จำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ
- ต้องจัดการขยะอุตสาหกรรมภายในโรงงาน ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัย
- หากไม่สามารถกำจัดได้ภายในโรงงาน ต้องรับผิดชอบต่อการนำขยะอุตสาหกรรมไปยังผู้รับบำบัดของเสีย โดยตลอดระยะทางการขนส่งจะต้องสามารถตรวจสอบและติดตามได้ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้ง
- หากสูญหาย เกิดอุบัติเหตุ หรือลักลอบทิ้ง จะต้องติดตามไปจนกว่าขยะอุตสาหกรรมจะได้รับจัดการแล้วเสร็จ
- ต้องรายงานการจัดเก็บขยะอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการจัดการ พร้อมรายงานการจัดการขยะอุตสาหกรรมภายในบริเวณโรงงาน ภายในวันที่ 1 เมษายนของปีถัดไป ทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม
2) ผู้รับบำบัดของเสีย ได้แก่ โรงงานรับบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรม ประเภทที่ 101, 105 และ 106 จำนวน 2500 โรงงานทั่วประเทศ
- ต้องจัดทำรายงานการจัดการขยะอุตสาหกรรมแบบรายเดือน โดยจัดส่งภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม
PPP คืออะไร
ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle หรือ PPP) เป็นหลักการสำคัญคือ การนำเอาต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (environmental costs) หรือผลกระทบภายนอก (externality) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักคิดที่ว่า ผู้ก่อมลพิษควรจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่าง โรงงานหนึ่งที่ในกระบวนการผลิตมีผลพลอยได้ (by product) เป็นสารพิษ จึงต้องแสดงความรับผิดชอบในการกำจัดสารพิษนั้นอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่จะต้องการควบคุมมลพิษ จะทั้งดิน น้ำ และอากาศ
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่เรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นมลพิษทางอากาศรูปแบบหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากการคำนวณขององค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่ามลพิษนอกอาคาร (Ambient air pollution) จะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 4.2 ล้านคนในปี 2562
ทว่าสังคมกลับตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของมนุษย์กับการสร้างก๊าซเรือนกระจกช้าไป ทำให้ผู้ก่อมลพิษส่วนใหญ่ไม่ได้รับผิดชอบต้นทุนที่ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นความล้มเหลวของการตลาด (market failure) เพราะไม่ได้คิดต้นทุนของสิ่งแวดล้อมไว้ในการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้แทนที่ผู้รับผิดชอบจะเป็น “ผู้ก่อมลพิษ” กลับเป็น “สังคม” ที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับต้นทุนของก๊าซเรือนกระจกนั้นไว้แทน
แหล่งที่มา : www.gcc.go.th, www.diw.go.th, www.lse.ac.uk