พาณิชย์แนะเจาะตลาดอัญมณีตะวันออกกลางผ่าน “โอมาน”

สถาบันอัญมณีฯ ชี้ช่องผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเจาะตลาดตะวันออกกลาง แนะใช้โอมานกระจายสินค้าไทย ผ่านพ่อค้าส่งจากดูไบที่เข้าไปเปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ใช้บาห์เรนเป็นฐานกระจายสินค้า และส่งออกเข้ากาตาร์โดยตรง หลังลดนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และหันมานำเข้าจากไทยเพิ่ม ระบุการส่งออกอัญมณี 2 เดือน เพิ่ม 4.26% เผยเครื่องประดับเงินไปจีน รัสเซีย มาแรง

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง ทำการประเมินโอกาสและลู่ทางในการขยายตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง โดยพบว่า ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก เป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโต ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และชาวอาหรับมีความชื่นชอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูง ชิ้นงานมีความประณีตงดงาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการ และมีโอกาสในการขยายตลาดได้มาก

ทั้งนี้ ยังพบว่า ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา นับเป็นยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ โดยเหมาะที่จะใช้เป็นประตูทางการค้าขยายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปสู่ตลาดประเทศต่างๆ ในทั้ง 3 ทวีปดังกล่าวด้วย

นางดวงกมลกล่าวว่า สำหรับช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลาง ขอแนะนำตลาดโอมาน เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนมีกำลังซื้อสูง และพ่อค้าขายส่งจากดูไบจำนวนมากเข้าไปเปิดกิจการขายส่งในโอมาน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สามารถขายสินค้าผ่านพ่อค้าขายส่งกลุ่มนี้ให้กระจายสินค้าในโอมาน รวมถึงใช้โอมานเป็นฐานเชื่อมการค้าเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางได้

ส่วนตลาดบาห์เรน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมากกว่าประเทศอาหรับอื่นๆ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และสินค้าไทยก็ได้รับการยอมรับ รวมถึงมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังเพื่อนบ้านได้สะดวก จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดบาห์เรนได้เพิ่มมากขึ้น และเหมาะจะเป็นประตูการค้าเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีตลาดกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันผู้นำเข้าชาวกาตาร์ ลดการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยหันมานำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงมากขึ้น จึงทำให้สินค้าจากไทยทั้งเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัมเติบโตในตลาดกาตาร์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ เร่งบุกเจาะตลาดตะวันออกกลาง เพื่อขยายโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำไปยังตะวันออกกลางในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2561 มีมูลค่า 108.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.98% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ส่วนการส่งออกรวมในช่วง 2 เดือนของปี 2561 มีมูลค่า 1,437.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% โดยสินค้าส่งออกทั้งเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยสีเจียระไน ขยายตัวได้ทุกรายการ และยังสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ได้เพิ่มขึ้น และมีตลาดใหม่ที่น่าจับตา เช่น กาตาร์ ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแทนที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังจีน และรัสเซียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 19.74% และ 1.33% ตามลำดับ