แผนปฏิรูปพลังงานเขย่ารัฐวิสาหกิจ โยก”กฟน.-กฟภ.”สังกัดก.พลังงาน

แฟ้มภาพ

เปิดแผนปฏิรูปพลังงาน 6 ด้าน สะเทือนรัฐวิสาหกิจ-เอกชน ดึง กฟน.-กฟภ.สังกัดกระทรวงพลังงาน 1 ปีต้องเสร็จ เปิดเสรีก๊าซดันไทยเป็นฮับ LNG ใช้ภาคใต้พัฒนาปิโตรเคมี พลังงานทดแทนเน้นโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาหลังจากแผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ จำนวน 11 ด้าน ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ปรากฏ “แผนปฏิรูปด้านพลังงาน” ได้ถูก

“รื้อใหญ่” เนื่องจากเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว รวมถึงกระแส climate change ที่ทำให้ประเทศไทยต้องไปสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว ส่งผลให้ภาคพลังงานได้รับผลกระทบ จึงควรมีการปฏิรูปด้านพลังงาน 6 ด้าน17 ประเด็น ได้แก่

1) ด้านบริหารจัดการพลังงาน จะต้องปรับปรุงกลไก โครงสร้างตลาด และราคาพลังงาน ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน 2) ด้านไฟฟ้า ปรับปรุงโครงสร้างของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่ ปรับปรุงการกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงและปฏิรูปการจัดหาพลังงาน จัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan หรือ PDP) แบบรายภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและที่ตั้งของโรงไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

3) ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศจากปิโตรเลียม ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานจากการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของภูมิภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในฐานการผลิตปัจจุบันในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการกำหนดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4) ด้านการสนับสนุนพลังงานทดแทน ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมด้านกฎหมาย ระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตพลังงานใช้เอง

5) ด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ 6) ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะการปฏิรูปด้านไฟฟ้า ตามแผนได้ระบุให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้าในเชิงนโยบายคือ การเสนอ “ให้ย้าย” การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จากเดิมที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยให้มาอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงานแทน และให้มีการออกกฎหมายปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานด้านไฟฟ้ากระจายอยู่ในหลายกระทรวง ส่งผลให้การดำเนินงานต่าง ๆ ค่อนข้างล่าช้า นอกจากนี้ ในแผนปฏิรูปได้กำหนดให้จัดทำระเบียบสำหรับ Third Party Access (TPA) ของระบบส่งและระบบจำหน่าย เพื่อส่งเสริมการแข่งขันธุรกิจไฟฟ้าในอนาคต

ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานทดแทนนั้น ยังคงใช้แผนพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน(Alternative Energy Development Plan หรือ AEDP) ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันเป็นฐาน แต่จะมีสัดส่วนของพลังงานทางเลือกกับพลังงานทดแทนตลอดทั้งแผนระยะเวลา 20 ปีกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30 โดยให้น้ำหนักไปที่การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลที่ใช้ไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากขยะ รวมทั้งให้มีการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปอย่างเสรีให้ได้ภายใน 4 ปีอีกด้วย

นอกจากนี้ แผนปฏิรูปพลังงานดังกล่าวยังได้ระบุว่า ต้องการให้มีการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากในอนาคตคาดว่าจะมีความต้องการใช้ก๊าซ LNG มากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องนำเข้ามาเพื่อรองรับความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น จากความกังวลถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากพื้นที่อ่าวไทยนอกเหนือจากแหล่งบงกช-เอราวัณ ที่จะครบอายุสัญญาแล้ว ยังมีแหล่งปิโตรเลียมอื่น ๆ ที่จะทยอยหมดอายุ เช่น แหล่งไพลิน, แหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (JDA), แหล่งทานตะวัน, แหล่งเบญจมาศ และแหล่งอาทิตย์ จึงควรดำเนินการ”ล่วงหน้า” อย่างเหมาะสม

ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เสนอให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นน้ำ โดยลงทุนสร้างโรงงานปิโตรเคมีขั้นต้นที่ใช้แนฟทา หรือ LPG เป็นวัตถุดิบ มีกำลังผลิตเอทิลีนที่ 1-1.5 ล้านตัน/ปี และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 อุตสาหกรรมโรงกลั่นที่จะผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง “เทียบเท่า” กับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยในแผนระบุถึงพื้นที่เหมาะสมจะขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไว้คือ พื้นที่ภาคใต้