แห่ร้อง กกพ. หลังต้นทุนติด “โซลาร์รูฟท็อป” พุ่ง 2 เท่า

 

เอกชนจ่อร้อง กกพ. ต้นทุนโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม 2 เด้งจากการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง-ต้องติดเครื่องรีเลย์ป้องกันกระแสไฟฟ้าส่วนเกินย้อนกลับเข้าระบบสายส่งทำต้นทุนเพิ่มโดยไม่จำเป็น และให้ตรวจสอบรัฐวิสาหกิจส่งบริษัทลูกเข้ามาลงทุนโซลาร์รูฟท็อปแข่งกับเอกชนจนเสียเปรียบเต็ม ๆ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เร็ว ๆ นี้ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอให้มีการพิจารณาในประเด็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยเฉพาะ การผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปแบบ private PPA ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนที่เช่าหลังคาแล้วขายไฟฟ้าให้กับเจ้าของหรืออาคารนั้น ๆ โดยล่าสุดมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจาก 2 ส่วนที่ต้องการให้ กกพ.พิจารณาว่า มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการหรือไม่

ทั้งนี้ ต้นทุนที่อยากให้ กกพ.พิจารณา ประกอบไปด้วย 1) การกำหนดผู้ประกอบการต้องติดตั้งเครื่องรีเลย์ (relay) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการป้องกันกระแสไฟฟ้าเกินเข้ามาในระบบสายส่ง โดยเครื่องดังกล่าวต้องลงทุนติดตั้งอยู่ระหว่างประมาณ 500,000-600,000 บาท/1 เมกะวัตต์ (MW)

กับ 2) การจ่ายค่าไฟฟ้าสำรอง (back up rate) ที่จะเรียกเก็บจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่โดยให้เหตุผลว่า ในกรณีที่การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีปัญหาก็จะต้องใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติ ซึ่งประเด็นนี้ภาคเอกชนมองว่า ในเมื่อภาครัฐไม่ได้สนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปอยู่แล้ว ก็ไม่ควรมาเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการพบว่ามีบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้านกิจการไฟฟ้าได้เข้ามาลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปแข่งกับภาคเอกชนด้วย ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการพลังงานทดแทนจึงต้องการให้ กกพ.เข้ามาตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะถือว่าบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้านกิจการไฟฟ้าใช้ความได้เปรียบจากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาทำธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชน

“ตอนนี้กลายเป็นว่า ผู้ประกอบการพลังงานทดแทนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น2 เด้ง และยังมีประเด็นรัฐลงมาแข่งกับเอกชนอีก ซึ่งเดิมทีเรามองกันถึงขั้นที่ว่า จะฟ้องศาลปกครอง แต่คิดว่าคงใช้ระยะเวลาในการพิจารณาค่อนข้างนาน จึงคิดว่าควรทำเรื่องร้องมาที่ กกพ.ก่อน เพราะ กกพ.มีหน้าที่ในการดูแลในประเด็นเหล่านี้อยู่แล้วโดยเฉพาะในประเด็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ความจริงปัญหาของธุรกิจพลังงานทดแทนไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ล่าสุดกระทรวงพลังงานเองก็ประกาศชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอีก ขณะนี้คิดกันถึงขั้นที่ว่า ปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือจะส่งเข้าระบบเพื่อให้ใช้ฟรีกันแล้วด้วยซ้ำไป” แหล่งข่าวกล่าว


มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างสูง ได้ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติของการไฟฟ้า และยังขยายวงไปยังบ้านเรือนทั่วไปที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงด้วยเช่นกัน รวมถึงเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) จะส่งผลให้โซลาร์รูฟท็อปได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสามารถกักเก็บพลังงานในช่วงกลางวันและนำมาใช้ในช่วงเวลากลางคืนด้วย ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าจากระบบปกติลดลงถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตจะมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น ด้านกระทรวงพลังงานเองก็เตรียมดำเนินการโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปด้านพลังงานที่ประกาศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ที่ต้องการให้มีการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปเสรีด้วยเช่นกัน