ดันด่านสิงขรเป็นด่านถาวร กำชับเข้มตรวจนำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำผิดกฎหมาย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

“ธรรมนัส” รมว.เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ผลักดันเป็นด่านถาวร หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ด่านประมงตรวจสอบอย่างเข้มงวด ป้องกันการลักลอบสินค้า สัตว์น้ำ ผิดกฎหมาย

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ว่าปัญหาการลักลอบสินค้าเกษตรเถื่อนที่ผิดกฎหมายสร้างผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทย จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน เร่งรัดดำเนินคดีและปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย

ในส่วนของปัญหาการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผ่านจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ซึ่งเป็นด่านบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเมียนมา ประเภทจุดผ่อนปรนพิเศษ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ รวมถึงฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันหารือระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการ ร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ให้ติดขัดหรือกระทบกับทุกฝ่าย

               

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร เป็นจุดให้บริการการขนถ่ายสินค้าข้ามแดนเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขของจุดผ่อนปรนพิเศษ ซึ่งในเรื่องนี้ตนได้เล็งเห็นศักยภาพของจุดผ่อนปรนพิเศษแห่งนี้ โดยจะเตรียมผลักดันให้เป็นด่านถาวรต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นอีกเส้นทางในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้รับทราบต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลปริมาณการค้าชายแดนจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ในปี 2566 พบว่ามีมูลค่าการค้ารวม 2,413 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่านำเข้า 2,228 ล้านบาท และมูลค่าส่งออก 185 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่นำเข้าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประมง ได้แก่ กุ้งมังกร ปูทะเล หอยแครง ปลา และสัตว์น้ำ เมืองมะริด ประเทศเมียนมา ส่วนสินค้าส่งออกไปเมียนมา เป็นสินค้าประเภทสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพ

สาเหตุที่มีการนำเข้าสินค้าประมงในปริมาณสูง เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศเมียนมาในธรรมชาติมีปริมาณที่สูง และสัตว์น้ำบางชนิดในประเทศไทยมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น กุ้งมังกร กุ้งก้ามกราม ปูทะเล เป็นต้น รวมถึงการผ่านช่องทางด่านสิงขร เป็นพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งทำการประมงของเมียนมา

อีกทั้งการขนส่งทางเรือปกติจะเข้าทางระนอง มีการขนส่งที่หลายขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการที่นำเข้าในพื้นที่จังหวัดระนองได้มาขออนุญาตนำเข้าที่ด่านสิงขรซึ่งเป็นการขนส่งทางบกที่สะดวกกว่า รวมถึงการตรวจสอบสินค้าของเจ้าหน้าที่ที่ด่านสิงขร (โดยเฉพาะด่านตรวจประมง) ยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาบุคลากรน้อยและข้อจำกัดของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้มีการเสนอให้กรมประมงวางมาตรการในการเปิดตรวจสินค้าของด่านชายแดน ให้เข้มงวดรัดกุมและมีมาตรฐานเดียวกันทุกด่าน

ตลอดจนควรมีสถานที่เปิดตรวจสินค้าที่อำนวยความสะดวกในการขนถ่าย และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันเปิดตรวจบริเวณ No Man’s Land ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามหน้าที่ที่จะบังคับใช้กฎหมาย หากเจอสินค้าต้องห้ามหรือไม่ได้ขออนุญาต เพียงแต่ให้ผู้ประกอบการนำกลับฝั่งเมียนมา

วางยุทธการปราบปราม

นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมายทั้ง 3 ด้าน (ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธการปราบปรามการลักลอบนําเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย

เพื่อปราบปรามการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย และลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจจากการถูกแทรกแซงกลไกราคาตลาด

ทั้งนี้ได้มีการร่วมบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ (กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์) เข้าตรวจสถานที่พักสินค้า (ห้องเย็น) ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 2,020 แห่ง พบสินค้าเกษตรถูกกฎหมาย แบ่งประเภทสินค้าออกเป็น

1) สินค้าด้านพืช จำนวน 32,747,151 กิโลกรัม

2) สินค้าประมง จำนวน 283,743,112 กิโลกรัม และ 3) สินค้าปศุสัตว์ จำนวน 180,270,090 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 496,760,353 กิโลกรัม

สำหรับผลการปฏิบัติงานปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ประกอบด้วย

1) ด้านพืช โดยกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปราบปรามลักลอบการนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้อายัดยางพาราที่มีการเคลื่อนย้ายจำนวน 29 ตัน ต้องสงสัยว่านำเข้าจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาผ่านชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสาร เพื่อยืนยันแหล่งที่มา รวมถึงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปราบปรามปัจจัยการผลิต วัตถุอันตราย ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่ผิดกฎหมาย โดยตรวจสอบสถานที่จำหน่าย ซึ่งได้อายัดปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมีปลอมจำนวน 365,00 กิโลกรัม ปุ๋ยอินทรีย์จำนวน 269.75 ตัน เป็นต้น

2) ด้านประมง โดยกรมประมง ดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานตรวจป้องกันลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเข้าตรวจสถานที่พักสินค้า (ห้องเย็น) จำนวน 427 แห่ง ไม่พบการกระทำความผิด จำนวน 411 แห่ง และการเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์ ณ สถานประกอบการ ช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 2566 ไม่พบการกระทำความผิด รวมถึงบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) สำหรับการตรวจสอบในทะเลโดยเรือตรวจการประมง จำนวน 2,609 ลำ พบการกระทำความผิดจำนวน 291 คดี

3) ด้านปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการปราบปรามลักลอบการนำเข้าซากสัตว์เข้าราชอาณาจักร ทั้งหมด 506 ครั้ง เป็นซากสัตว์ของกลาง ประกอบด้วย ซากโค-กระบือ, ซากสุกร, ซากสัตว์ปีก ทั้งหมด 6,820,468 กิโลกรัม ซึ่งได้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ของกลางไปแล้วทั้งสิ้น 2,131,370 กิโลกรัม อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี จำนวน 311,910 กิโลกรัม ทั้งนี้ได้มีการบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบสถานที่พักสินค้า (ห้องเย็น) ทั้งสิ้น 74 ครั้ง (33 จังหวัด 74 แห่ง)