
ธรรมนัสจับมือทุกฝ่าย ปราบปรามหมูเถื่อน ตรวจสอบห้องเย็นปศุสัตว์ 2,210 แห่ง ห้องเย็นประมง 2,062 แห่ง และห้องเย็นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน 1,100 แห่ง อายัดซากสัตว์และดำเนินคดี รวม 2,568,322 กิโลกรัม 92 คดี ใน 35 จังหวัด รวมมูลค่าประมาณ 287.72 ล้านบาท
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าว ผลปฏิบัติการเข้าตรวจสอบห้องเย็นและบังคับใช้กฎหมายด้านปศุสัตว์ 77 จังหวัด ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปฏิบัติการระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม-22 พฤศจิกายน 2566 ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์และกรมประมง ได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ
พร้อมได้ตั้ง “ทีม ฉก.พญานาคราช” เป็นทีมเฉพาะกิจชุดปฏิบัติการพิเศษที่ร่วมสนับสนุนภารกิจของสารวัตรปศุสัตว์ และสารวัตรประมงเพิ่มเติม เพื่อให้ดำเนินการปราบปรามขบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย จะเป็นที่น่าพอใจ แต่กระทรวงเกษตรฯจะยังคงมุ่งมั่นดำเนินการปราบปรามขบวนการดังกล่าว โดยขยายผลให้ครอบคลุมสินค้าเกษตรอื่น ๆ ทั้งพืชและประมงเพิ่มเติมด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหากลไกตลาดทั้งระบบอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก มีรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยอีกด้วย
“ส่วนการทำลายสินค้าที่ดำเนินการตรวจสอบและอายัดจากนี้ 10 เดือนจะมีการฝังกลบ ซึ่งผมจะมีการเปิดเผยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกฝ่ายและสามารถตรวจสอบถึงความโปร่งใสได้ และจะกำชับตรวจสอบห้องเย็นทุกประเภท ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือรถบรรทุกก็จะให้ความสำคัญในการเข้าดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด”
สำหรับห้องเย็นที่ตรวจสอบนั้น แบ่งเป็นการตรวจสอบห้องเย็นด้านปศุสัตว์ 2,210 แห่ง และห้องเย็นด้านประมง 2,062 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจำนวนห้องเย็นทั้งหมด ประกอบด้วย ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมแรงงานอุตสาหกรรม และกรมการค้าภายใน รวมถึงห้องเย็นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใดเลยอีกประมาณ 1,100 แห่ง ซึ่งเป็นห้องเย็นขนาดเล็ก
ส่วนการกระทำความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2558 ไม่มีใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก นำผ่านราชอาณาจักรมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษตามมาตรา 68 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ได้อายัดซากสัตว์และดำเนินคดี โดยอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสาร จำนวนห้องเย็น 14 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,129,438 กิโลกรัม แบ่งเป็น
- ซากโค-กระบือ 380,841 กิโลกรัม
- ซากสุกร 338,361 กิโลกรัม
- สัตว์ปีก 410,236 กิโลกรัม
ดำเนินคดี 92 คดี
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการตรวจสอบห้องเย็น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน กรมตรวจสอบห้องเย็นไปจำนวน 2,210 แห่ง
ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ กรมโรงงานฯ กรมการค้าภายใน กรมประมง และยังมี 1,100 แห่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องเย็นขนาดเล็กหรือหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์
ทั้งนี้ การตรวจสอบห้องเย็น ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 พระราชบัญญัติ คือ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 พบการกระทำความผิด
โดยได้อายัดซากสัตว์และดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 2,568,322 กิโลกรัม 92 คดี ใน 35 จังหวัด รวมมูลค่าประมาณ 287.72 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ซากโค-กระบือ 411,336 กิโลกรัม
- ซากสุกร 689,649 กิโลกรัม
- ซากสัตว์ปีก 1,467,337 กิโลกรัม
ข้อหาส่วนใหญ่ คือ โรงงานเถื่อน ไม่ขออนุญาต จำหน่ายผิด
นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมร่วมกับหน่วยงานครูพรหมตรวจสอบห้องเย็นในกลุ่มสัตว์น้ำและการนำเข้าประมาณ 2,062 แห่ง อีกทั้งประสานกับดีเอสไอนำหลักฐานที่ตรวจสอบได้ไปดำเนินการเพื่อหาผู้กระทำผิดต่อไป
เจอข้าราชการเอี่ยว
พลตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า การดำเนินงานใน 5 เดือนที่ผ่านมาได้เร่งรัดบูรณาการพิจารณาคดีรวมไปถึงการสอบสวน ขบวนการทั้งหมด ที่มองว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และอาชีพเกษตรกร
ซึ่งดีเอสไอมองสิ่งเหล่านี้ว่า คือ องค์กรอาจชญากรรม และการตรวจสอบมี 3 กลุ่มสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มนายทุน ข้าราชการ ข้าราชการการเมืองซึ่งเข้าไปมีส่วนพัวพัน ล่าสุดสามารถส่งดำเนินคดีไปแล้ว อย่างไรก็ดี ไม่สามารถเปิดเผยหรือระบุถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมาย
“บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในส่วนของอดีตข้าราชการทางการเมือง ข้าราชการ ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถระบุตัวบุคคลหรือชื่อได้ โดยได้มีการส่งต่อให้กับ ป.ป.ช.และสำนวนในการดำเนินคดีอยู่”
อย่างไรก็ดี ไม่ต้องกังวลหากมีผู้ใดเกี่ยวข้องหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เข้ามาพัวพันหากมีการสืบทราบก็จะดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีสินค้าเถื่อนเข้ามาระบาด และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ ยังจะทำงานควบคู่ขนานไปกับ ปปง.ในการตรวจสอบ หากผู้นั้นได้กระทำผิดโดยเฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
อายัดสินค้าเถื่อน
พลตำรวจตรีเอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า ในการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อน โดยการหลบเลี่ยงภาษี ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานไม่ว่าจะสินค้าใด รวมถึงสินค้าสัตว์อาหารและพืช ล่าสุดมีการยึดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมมูลค่ากว่า 53 ล้านบาท พร้อมที่จะตรวจสอบและสืบสวนการกระทำของทุกฝ่ายเพื่อคุ้มครองสินค้าภายในประเทศ
ผู้แทนกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมศุลกากรมีความเข้มงวดตรวจสอบ โดยเฉพาะการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การสำแดงหลักฐาน หากมีข้าราชการกระทำผิด พร้อมที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนว่ามีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยล่าสุดได้ดำเนินการอายัดตู้หมูเถื่อนจำนวน 161 ตู้ และมีการอายัดอีก 92 ตู้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ในจำนวนนี้มี 16 ตู้ที่เป็นหมูเถื่อน และยังมีเนื้อวัว หนังไก่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบยางพาราเถื่อน ซึ่งกรมศุลกากรบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการหาผู้กระทำความผิดต่อไปด้วย