สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ จี้รัฐมาตรฐาน GAP ต้องเป็นกฎหมายเร็วที่สุด

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ร้อนใจหนักหลังเข้าพบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์-กระทรวงพาณิชย์ แต่รัฐเมิน เร่งส่งสัญญาณให้ไทยต้องเริ่มทำมาตรฐาน GAP แบบบังคับทันที พบพืชเศรษฐกิจทั้งข้าว มัน ข้าวโพด ปรับพื้นที่ด้วยการเผาแปลง หวั่นโดนกีดกันทางการค้าจากมาตรการ CBAM ของยุโรป เตือนระวังถูกเวียดนามชิงตลาดแทน

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวภายหลังการสัมมนา “เจาะลึกกลยุทธ์ปฏิบัติการที่ยั่งยืน : ระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์” ว่าประเทศไทยมีข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีทั้งการส่งออกและใช้เป็นอาหารสัตว์ แต่รัฐบาลไทยกลับไม่เห็นความสำคัญของการทำมาตรฐาน GAP

ซึ่งเป็นแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตร เพื่อผลิตสินค้าปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช มีคุณภาพ มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแบบยั่งยืน โดยเฉพาะไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากประเทศคู่ค้าได้กำหนดและถามหามาตรฐานการผลิตแบบยั่งยืน GAP จากไทย ตั้งแต่ต้นน้ำคือการเพาะปลูก และจะนำไปสู่การใช้มาตรการ CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ยุโรปนำเรื่องของภาษีเข้ามาใช้

“เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา เราเข้าพบนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ ในการกำหนดมาตรฐาน GAP ให้เป็นภาคบังคับ จากเดิมตอนนี้เป็นแค่ภาคสมัครใจ แต่ผ่านมากว่าเดือนยังไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งเรามีการคุยเรื่องนี้มาก่อนแล้วหลายปีเช่นกัน กับทางกระทรวงพาณิชย์ รัฐยังคงไม่มีนโยบายอะไรขึ้นมา ซึ่ง GAP มันคือพื้นฐานทั้งหมดของการทำเกษตรแบบยั่งยืน ที่ตอนนี้ประเทศคู่ค้าเขาถามหา และต่อไปมันจะถูกกีดกันด้วยมาตรการ CBAM ในอีกไม่ช้า”

ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรไทยและผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยปรับตัวให้ทัน จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องทำมาตรฐาน GAP เป็นกฎหมายมาบังคับ ซึ่งขณะนี้ประเทศเวียดนามได้เริ่มทำมาตรฐาน GAP กับข้าวไปแล้ว หากไทยยังไม่เริ่มทันที จะทำให้ไทยเสียตลาดให้กับเวียดนามแน่นอน

ADVERTISMENT

“เราไม่มีอะไรมาการันตีอะไรเลยว่าของเราดียังไง มีแค่ว่าเรามีสินค้า มีข้าวขาย มีเนื้อไก่ขายส่งออกไป แต่ไม่มีอะไรการันตีเลยว่าเรามีดีเรื่องอะไร เรามีมาตรฐาน GAP มีความยั่งยืนหรือไม่ การเพาะปลูกไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งตอนนี้เวียดนามเขามีการันตีว่าเขามีดีเรื่องเหล่านี้แล้ว”