สรุปให้ ธุรกิจดาวเด่น – ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 2566

ธุรกิจ
Photo : pexels

กรมพัฒนาธุรกิจ เผย ธุรกิจดาวเด่น – ธุรกิจเสี่ยงถดถอย ปี 2566 รับเศรษฐกิจฟื้นตัวและกระแสธุรกิจรักษ์โลก  e-Commerce  แนะนักธุรกิจหน้าใหม่ เริ่มต้นจากความรักอย่าลืมมอง องค์ประกอบ กระแสธุรกิจ พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมสร้างเครือข่าย

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกเพื่อเฟ้นหาธุรกิจดาวเด่น 5 ธุรกิจ และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ปี 2566

โดยใช้ข้อมูลประกอบการวิเคราะห์จากหลายภาคส่วน เช่น จำนวน/อัตราการเติบโตของการจัดตั้ง อัตราการเลิก การเพิ่มปริมาณการลงทุนของธุรกิจ (จำนวนการเพิ่มทุนจดทะเบียน) และข้อมูลจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มธุรกิจ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

และ ดัชนีทางเศรษฐกิจ ร่วมกับสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ เช่น สถานการณ์โควิค-19 ที่คลี่คลายลง สภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งความต้องการขั้นพื้นฐาน ความสะดวกสบายที่ตอบโจทย์คนทุกวัย การพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะด้าน การแพทย์ทางเลือก สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีความหลากหลาย รวมทั้ง แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจในประเทศและระดับสากล

ผลจากการวิเคราะห์ฯ พบว่า ปี 2566 ธุรกิจดาวเด่นมาแรงจะสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศและของโลก โดยเฉพาะธุรกิจที่เคยประสบปัญหาช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัวจนมีความโดดเด่นอีกครั้ง

ขณะที่ ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจะสอดคล้องกับกระแสธุรกิจรักษ์โลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยมีผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล บริการ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบและเปลี่ยนแปลงมูลค่าบริการและสินค้าที่มีอยู่ของอุตสาหกรรมเดิม (Digital Disruption)

ADVERTISMENT

ปี 2566 ธุรกิจที่มีความโดดเด่นและมาแรง 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ประกอบด้วย ธุรกิจจัดนำเที่ยว ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง โรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด สปา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 2,882 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 ทุนจดทะเบียน 7,221 ล้านบาท

ADVERTISMENT

เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ รวมทั้ง มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น การประกาศยกเว้นการตรวจลงตรา (ฟรีวีซ่า) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน

2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ประกอบด้วย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 7,878 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ทุนจดทะเบียน 32,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนเติบโตตามมา

รวมถึง มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง (มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) และการผลักดันให้ไทยเป็น “บ้านหลังที่สอง” สำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ

3.กลุ่มธุรกิจสมุนไพร เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ประกอบด้วย การปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์ และการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์ที่ใช้รักษาโรค มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 711 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ทุนจดทะเบียน 2,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากกระแสนิยมดูแลรักษาสุขภาพ

โดยวิถีธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีของผู้บริโภค ส่งผลให้สมุนไพรเข้ามาเป็นหนึ่งในวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม (Health and Wellness)

4.กลุ่มธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ประกอบด้วย ธุรกิจการติดตั้งไฟฟ้า การผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ การขายส่งอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,413 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ทุนจดทะเบียน 10,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยสนับสนุนมาจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน

ทั้งการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครือข่ายรวมอุปกรณ์ข้อมูลเชื่อมถึงกัน (Internet of Things: IoT) ในบ้านอัจฉริยะ (Smart home) หรือการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อสอดรับกระแสรถยนต์ EV ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และสนองความต้องการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

5.กลุ่มธุรกิจ e-Commerce หรือ ธุรกิจการค้าปลีกสินค้าออนไลน์ เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2566 ทั้งสิ้น 1,657 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ทุนจดทะเบียน 2,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า

ทำให้ผู้ประกอบการเกือบทุกประเภทปรับตัวขยายช่องทางการตลาดผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลาดออนไลน์ได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด และถึงแม้โควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่กระแสการใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจ e-Commerce เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งและสามารถยืนหนึ่งบนเวทีธุรกิจได้ทุกสถานการณ์

ธุรกิจ

ขณะที่ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย

1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เติบโตลดลงร้อยละ 30 ประกอบด้วย ธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลิตปุ๋ยเคมี และการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 146 ราย ลดลงร้อยละ 30 ทุนจดทะเบียน 748 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 93 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ได้รับปัจจัยมาจากการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก

เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ลดการใช้เคมีภัณฑ์ เช่น ปุ๋ยเคมี โดยเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน และลดสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดสารตกค้าง

2.กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้า หรือ ธุรกิจการค้าปลีกช่องทางออฟไลน์ เติบโตลดลงร้อยละ 12 มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 1,437 ราย ลดลงร้อยละ 12 ทุนจดทะเบียน 1,943 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ปัจจัยมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

การค้าปลีกออฟไลน์หรือขายของผ่านหน้าร้านจึงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะการปรับตัวทางการตลาดที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าควรขยายช่องทางการตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น และมีระบบเดลิเวอรีจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าเป็นบริการเสริม เป็นการสร้างความดำรงอยู่ของธุรกิจ และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

3.กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงสันดาป เติบโตลดลงร้อยละ 5 ประกอบด้วย ธุรกิจการขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในสถานี หรือ ปั๊มน้ำมัน การขายส่งเชื้อเพลิงแข็ง/เหลว และการทำเหมืองแร่ เหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน มีจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ปี 2566 ทั้งสิ้น 481 ราย ลดลงร้อยละ 5 ทุนจดทะเบียน 1,244 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 49 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565

ปัจจัยหลักมาจากผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แนวโน้มการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มสูงขึ้น และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก

ธุรกิจที่มีความโดดเด่น 5 ธุรกิจ และธุรกิจที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย 3 ธุรกิจ เป็นการวิเคราะห์ที่ใช้ข้อมูลจากองค์ประกอบรอบด้าน เป็นข้อมูลเสริมที่ช่วยผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนประกอบธุรกิจควรมีจุดเริ่มต้นมาจากความรักและความชื่นชอบในธุรกิจนั้นๆ เป็นหลัก เพราะจะเป็นการช่วยเพิ่มแรงขับ ความอดทน และเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจที่ตัดสินใจลงทุน ส่วนองค์ประกอบอื่น เช่น กระแสธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต เป็นปัจจัยสนับสนุนไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลงทิศทาง

ทั้งนี้ เมื่อก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจแล้ว ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมือและปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลง ควรนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการธุรกิจ และที่สำคัญ คือ ต้องมีเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็งที่พร้อมสนับสนุนเกื้อกูลและจูงมือพากันเติบโตต่อไป

ธุรกิจ