ฉัตรชัย คาดสถานการณ์สกลนครเข้าภาวะปกติ 5-6 วัน หลังตั้งเครื่องผลักดันสูบ 20 ตัว

ฉัตรชัย คาดสถานการณ์สกลนครเข้าภาวะปกติ 5-6 วันหลังตั้งเครื่องผลักดันสูบ 20 ตัวลงลำน้ำก่ำ สู่แม่น้ำโขง อาจกระทบที่เกษตรนครพนมตามริมฝั่ง 5 หมื่นไร่ ชี้เสียหายแล้วกว่า 3 ล้านไร่ เร่งปลูกข้าวหอมมะลิให้เสร็จกลางเดือนนี้หวั่นไม่ทันช่วงแสง-กรมชลฯเตือนลำน้ำชีน้ำสูงขึ้น60เมตร ปชช.40ครัวเรือนกาฬสินธุเตรียมรับมวลน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเข้าไปแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมที่สกลนคร แล้วคาดว่าจะทำให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้ใน 5-6 วันนี้ โดยจากการวิเคราะห์ของกรมชลประทานเส้นทางการระบายน้ำจากหนองหาร สามารถดำเนินการได้เพียงการทางเดียว คือระบายน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำ ดังนั้นจึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอย่างน้อย 20 เครื่อง เพื่อดันน้ำลงลำน้ำก่ำให้เร็วที่สุด ในขณะที่ปลายลำน้ำก่ำที่จะไหลออกลงสู่แม่น้ำโขงจะต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงบ่าย วานนี้(1 ส.ค.) คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องได้เลย อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำในลำน้ำก่ำ จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับพื้นที่ริมน้ำในจังหวัดนครพนม จึงได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเฝ้าระวัง ประกาศให้ประชาชนอย่างน้อย ในเขตพื้นที่ประมาณ 5 หมื่นไร่ รับทราบเตรียมแนวทางต้องการป้องกัน แต่เนื่องจากระยะนี้ไม่มีฝนตกลงมาซ้ำ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสูบออำสู่แม่น้ำโขงจะทำได้เร็วขึ้น

“ภายใน 2 วันที่ผ่านมา มีน้ำในจังหวัดสกลนครลดลงถึง 20 เซนติเมตร(ซม.) ในขณะที่ในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังเยอะอยู่ ในเขตตัวเมืองจะเห็นชัดว่าลดลงไป ซึ่งถ้าสูบน้ำได้หมดคาดว่าอีกประมาณ 5-6 วันสถานการณ์จะดีขึ้น“ พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5-31 ก.ค.60 มีพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้วกว่า 3 ล้านไร่ และบางพื้นที่เสียหายบางส่วน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอีกครั้งว่าหากพบเสียหายอย่างสิ้นเชิง ก็ต้องชดเยตามระเบียบของราชการโดยข้าวอัตราไร่ละ 1,113 บาท สมทบกับมติของคณะรัฐมนตรี(วันที่ 1 ส.ค.) ที่เห็นชอบมตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลัง ทั้งมาตรการภาษี มาตรการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะหารือแนวทางช่วยเหลือในส่วนของปัจจัยการผลิตต่อไป โดยเฉพาะพื้นทีนาข้าวหอมดอกมะลิที่ต้องเร่งปลูกไม่ให้เกิดกลางเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้ทันต่อช่วงแสงของการออกดอกติดรวง

“สำหรับข้าวหอมมะลิซึ่งเพิ่งปลูกได้เพียง 15 วัน อาจเสียหายอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องดูว่ามีพื้นที่มากน้อยเพียงใด ส่วนข้าวที่ปลุกได้แล้ว 1 เดือน อันนี้ไม่ได้รับผลกระทบแน่ อาจต้องซ่อมแซมบ้าง ดังนั้นผมจึงสั่งให้ไปว่าถ้าจะปลูกใหม่ทันให้เร่งปลุก หาเมล็ดพันธุ์ให้ทัน กลางเดือนนี้ แต่ถ้าเกินไปแล้วก็จะเสี่ยง” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

รายงานจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าผลกระทบด้านการเกษตรในขณะนี้มีทั้งสิ้น 34จังหวัด เกษตรกร 468,105ราย แบ่งเป็น ด้านพืช 34 จังหวัด เกษตรกร 415,598 รายพื้นที่ประสบภัย 3.94ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3.64ล้านไร่ พืชไร่ 2.8 แสนไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 2 หมื่นไร่ ด้านประมง 16 จังหวัด เกษตรกร 23,211 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้้าประสบภัย 16,703 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 10 จังหวัด เกษตรกร 29,296 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 560,561 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 69,975 ตัว สุกร 16,986 ตัว แพะ-แกะ 1,063 ตัว สัตว์ปีก 472,537 ตัว แปลงหญ้า 135 ไร่

ทางด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุด (1ส.ค.60) จากอิทธิพลของพายุเซินกา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าสู่เขื่อนลำปาวอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 26-31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 649.94 ล้านลูกบาศก์เมตร จนทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อน 1,678 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุเก็บกัก จากความจุเก็บกักสูงสุด 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายวัน ดังนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการจังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมด้วยนายอำเภอ และผู้นำชุมชนใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และอำเภอร่องคำ ดำเนินการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างในเขื่อนสำหรับรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ให้เพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนที่ระบายลงทางลำน้ำปาวจนถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

สำหรับการเพิ่มการระบายน้ำดังกล่าวนั้น จะส่งผลให้มีพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร คือ หมู่ที่ 1 ,2 , 7 และ 9 ตำบลวัดโนนศิลาเลิง อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งทั้ง 4 หมู่บ้านนี้เคยประสบอุทกภัยมาแล้วเมื่อปี 2544 และอีกหนึ่งจุด คือ หมู่ที่ 14 อำเภอกมลาไสย ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำลำปาวหนุน คาดว่าจะมีบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมกว่า 40 ครอบครัว จากนั้นจะส่งผลให้ลำน้ำชีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 50 – 60 เซนติเมตร

กรมชลประทานได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพนังกั้นน้ำชีแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมวางแผนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งเรื่องการเตรียมศูนย์พักพิง เตรียมเรือและรถยกสูงสำหรับการเดินทางของพี่น้องประชาชน ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคและการดูแลความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ และหากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนลำปาวมีปริมาณลดลง กรมชลประทานจะปรับลดการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป