“ณรัตน์ไชย หลีระพันธ์” ที่นี่สถานีชาร์จไฟฟ้ารถยนต์

สัมภาษณ์

กระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน กำลังอยู่ในความสนใจทั่วโลก รวมถึงในไทยเองก็ถือว่าตื่นตัวรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก โดยค่ายรถหันมาผลิตและทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างรับติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าขยายตัวตามไปด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ณรัตน์ไชย หลีระพันธ์” ประธานบริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด เจ้าตลาดธุรกิจรับติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศถึงทิศทางอนาคตธุรกิจนี้

Q : จุดเริ่มต้นธุรกิจติดตั้งหัวชาร์จ

โพลีเทคนิคเริ่มต้นทำธุรกิจมาจากดูแลระบบการผลิตให้กับโรงงานน้ำตาล หลังจากนั้นก็เปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้สร้างระบบเพื่อควบคุมการผลิตให้กับโรงงานปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ตามมาด้วยรับวางท่อก๊าซ ทำคลังน้ำมัน และขยายงานมารับติดตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) จนกระทั่งมาสู่ธุรกิจรับติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ในปี 2558 โดยเป็นตัวแทนจำหน่าย Greenlot ระบบบริหารและจัดการสถานีชาร์จไฟฟ้า และ EFAFEC ผู้ผลิตเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก เพราะเชื่อมั่นว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมในไทยแน่นอน

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าให้กับลูกค้า เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น บีเอ็มดับเบิลยู รวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่และรถยนต์ปอร์เช่ในไทยในการเข้าไปสำรวจ และติดตั้งหัวชาร์จให้ลูกค้าในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย

Q : รถไฟฟ้ามาแทนน้ำมันได้หรือไม่

การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในไทยที่อยู่ระหว่างเปลี่ยนผ่านในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจไฟฟ้า ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนมากขึ้น และใช้ไฟฟ้าจากระบบผลิตลดลง นอกจากนี้ไทยยังร่วมลงนามในข้อตกลงที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิของโลกลง 2-3 องศาเซลเซียส ประเด็นคือต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง ซึ่งจะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ลง และใช้พลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานทดแทนคาดว่าจะเข้ามาแทนใน 10-20 ปีข้างหน้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จะมีการพัฒนาให้ใช้ไฟฟ้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่จะเข้ามา กระตุ้นให้รถไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ ข้อตกลงการค้าอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ในขณะที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่เก็บภาษีนำเข้าเพียงร้อยละ 20% ส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงและน่าจะมีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท/คัน ฉะนั้นคาดว่าจะมีผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาทำตลาดในไทยเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

Q : เป้าหมายในการติดตั้งหัวชาร์จ

ปีนี้คาดว่าจะขยายหัวชาร์จได้รวม 160 แห่ง จากปัจจุบันที่ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้ว 59 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้หากตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดว่า

จะตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตหัวชาร์จไฟฟ้าในไทย รวมถึงนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุน เพราะนอกจากธุรกิจรับติดตั้งสถานีชาร์จแล้ว ก็ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องทยอยลงทุนตามแผน เช่น ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก

Q : อัตราค่าชาร์จไฟ

กำหนดจากราคาค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าที่ 3 บาทกว่า/หน่วย ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีแนวโน้มกำหนดให้สามารถบวกเพิ่มค่าไฟฟ้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเช่าหรืออุปกรณ์การติดตั้งเพื่อให้ได้มาตรฐาน ทั้งนี้การชาร์จไฟฟ้าผ่านสถานีชาร์จนั้นได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่สามารถตรวจสอบที่ตั้งของหัวชาร์จ การเก็บค่าชาร์จไฟฟ้า พร้อมทั้งมีบัตรสมาชิกสำหรับชำระค่าบริการในการชาร์จ โดยค่าชาร์จไฟฟ้าจะเริ่มต้นที่ 40-50 บาท/ชั่วโมง

ทั้งนี้คาดว่าจะมีการพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในประเทศได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเทคโนโลยี (disruptive technology) ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมากขึ้น การใช้ไฟฟ้าจากระบบของการไฟฟ้าลดลงถึงร้อยละ 30 ภาครัฐต้องส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบมากขึ้น เชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยขยายความต้องการใช้ไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นได้