“กฤษฎา” ในภารกิจแก้จน เหยียบคันเร่งงบฯ 2.4 หมื่นล้าน พลิกโฉมเกษตร

กว่า 4 เดือนที่ “กฤษฎา บุญราช” ขยับตัวเองจากปลัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นจังหวะเดียวกับที่ราคายางพาราและพืชผลเกษตรตกต่ำ เขาประกาศทันทีที่ได้รับตำแหน่งว่า จะผลักดันราคายางให้ขยับขึ้นแตะ 60 บาทต่อกิโลกรัมภายใน 3 เดือน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เป็นเช่นนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กฤษฎา” เพื่อไขคำตอบว่าเหตุใด ทำงานมา 4 เดือน ผลงานยังไม่เป็นไปตามเป้า ประกอบกับกระทรวงเกษตรฯได้งบฯไทยนิยมยั่งยืนนับหมื่นล้านบาท มีแนวทางพลิกชะตาเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างไร

Q : ทำงานมา 4 เดือนคิดว่าผ่านช่วงทดลองงานหรือยัง

ไม่กล้าประเมินตัวเอง แต่ 4 เดือนได้รับความร่วมมือจากข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงระดับภูมิภาค มั่นใจว่าทำงานร่วมกับเพื่อนข้าราชการกระทรวงเกษตรฯได้ แต่ส่วนตัวยังไม่พอใจผลงาน เพราะหลายเรื่องที่ตั้งใจว่าจะช่วยเกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนยางทำอย่างไรไม่ให้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ยังไม่สำเร็จ แต่มีโชคช่วยที่ปีนี้น้ำดี เมื่อน้ำดีชาวนา ชาวไร่ก็เพาะปลูกพืชได้ดี ข้าวปลูกได้มากและราคาไม่ตกต่ำ แต่ยังต้องลุ้นว่าช่วงนี้เป็นช่วงทำนาครั้งที่ 2 ที่ 3 เราพยายามเชิญชวนชาวนาให้ไปปลูกพืชอื่นบ้าง อย่าปลูกแต่ข้าวอย่างเดียว จะล้นตลาด ราคาตก คิดว่าอีก 4-5 เดือนจะประเมินผลได้แล้วว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

Q : เหตุใดราคายางไม่ถึงกิโลกรัมละ 60 บาท ตามประกาศไว้

ตอนที่ผมเข้ามาราคา 42 บาทต่อกิโล แต่ตอนนี้บางอาทิตย์เพิ่มไป 50 บาท เฉลี่ยจะอยู่ที่ 47-48 บาทต่อกิโลกรัม ต้องยอมรับว่าเรื่องยางพารานอกจากปริมาณยางในประเทศมีมากแล้ว เราเป็นประเทศผู้ส่งออกยาง ต้องอาศัยการส่งออกเป็นหลัก ปีนี้ผมอาจโชคไม่ดี เพราะค่าเงินบาทไทยแข็ง แม้ยางพาราในตลาดโลกไม่มาก เราส่งออกมาก เมื่อค่าเงินบาทแข็งเวลาเงินดอลลาร์เข้าประเทศ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทก็เป็นรายได้แค่นิดเดียว ทำให้ราคายางยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

แต่ผ่านมา 4 เดือน ผมศึกษากลไกราคายางไว้พอสมควรแล้ว มีมาตรการบางอย่างถ้าทำขึ้นมาจะหนุนราคายางให้ขึ้น เช่น 1.มาตรการลดการส่งออกยางที่ใช้มาระยะหนึ่งแล้ว ต่อจากนี้จะหาทางให้หน่วยงานภาครัฐใช้ยางให้ได้ปีละ 2 แสนตันเป็นอย่างน้อย จะลดปริมาณยางลง ปกติเราใช้ยางในประเทศปีละ 4-5 แสนตัน ถ้าสามารถใช้ยางได้ 6-7 แสนตัน

จะทำให้ราคายางพุ่งไปข้างหน้าได้ 2.ไม่สนับสนุนให้เปิดพื้นที่ปลูกยางใหม่ มีต้นยางอายุ 25 ปีที่ต้องโค่นปลูกใหม่ ถ้ามี 20 ไร่ แล้วต้องปลูกใหม่ ไปบอกชาวสวนว่าควรปลูก 10 ไร่ก่อน

อีก 10 ไร่ปลูกพืชอื่นที่เราเสนอ ได้ราคาไม่น้อยกว่ายางพารา 3.การหยุดกรีดยาง 3 เดือน หรือ 3 ล้านไร่ ยืนยันจะเดินหน้า

ขณะนี้อยู่ระหว่างหาเงินชดเชยให้เกษตรกร ไร่ละ 1,500 บาท รวม 4,500 บาทต่อไร่ ไม่อยากขอเงินจากรัฐบาล คาดว่าจะใช้เงิน 13,500 ล้านบาท

คำนวณคร่าว ๆ ราคายางอยู่ที่ 47-48 ต่อกิโลกรัม ทำรายได้เข้าประเทศปีละ 2 แสนล้านบาท แซงข้าวเปลือกไปแล้ว ถ้าเราลงทุน 13,500 ล้านบาท แล้วราคายางเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท จะได้เงินเข้าประเทศจากปีละ 2 แสนล้านบาท เป็น 4 แสนล้านบาท ถ้าเป็นการลงทุน ถือว่าคุ้มค่า

Q : แนวทางการใช้งบฯไทยนิยมของกระทรวงเกษตรฯ 

กระทรวงเกษตรฯได้งบฯ 2.4 หมื่นล้านบาท เงินที่จะตกอยู่ในมือเกษตรกร 2.3 ล้านคน คือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยแล้วไปลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กับเกษตรกรทั่วไปที่ว่างงานจากฤดูเพาะปลูก ที่ไปเป็นลูกจ้างของกรมชลประทาน รวมถึงเกษตรกรที่เข้าอบรมเกษตรกรแผนใหม่ จะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงอบรมวันละ 300 บาท หลักสูตรหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 วัน เฉลี่ยคนหนึ่งจะได้ 900-1,200 บาท จะจ่ายผ่านธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทยให้ถึงมือเกษตรกรโดยตรง ผลทางอ้อมทำให้เกษตรกรมีความรู้เรื่องการทำการเกษตร นอกจากนี้ สถาบันการเกษตร 1,400 แห่ง จะได้งบฯอุดหนุนไปปรับปรุงโรงเก็บสินค้าการเกษตร โรงอบแห้ง โรงแปรรูป อีก 6,000 ล้านบาท

Q : เม็ดเงินดังกล่าวจะไปปฏิรูปโครงสร้างการเกษตรอย่างไร

เดิมเวลาเราให้เกษตรกรปลูกผัก เลี้ยงพืช เลี้ยงไก่ เลี้ยงตามความชำนาญ แต่กระทรวงเกษตรฯพยายามเอาเกษตรแผนใหม่เข้ามา เช่น ก่อนลงมือเลี้ยงหมู ต้องดูว่าตลาดต้องการอะไร ถ้าหมูธรรมดาได้ราคานี้ ถ้าหมูหลุมได้อีกราคา ถ้าปลูกผักออร์แกนิกจะได้อีกราคาหนึ่ง เกษตรแผนใหม่คือ ผลิตเพื่อกินใช้ในชุมชน และผลิตเพื่อส่งออก จำหน่ายในจังหวัด ต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ ใช้ระบบไอทีรวบรวมข้อมูลผลผลิต และจังหวัดขึ้นเว็บไซต์ให้ผู้ซื้อสินค้าที่อยู่ต่างประเทศเข้ามาคลิกดูผลผลิตนั้นได้โดยตรง เป็นระบบอีคอมเมิร์ซ

Q : 2.4 หมื่นล้านจะบริหารให้มีประสิทธิภาพอย่างไร

ผมตั้งเป้าใช้เงินหลวง 100 เปอร์เซ็นต์ ในการใช้เงินหลวงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และไม่ให้รั่วไหล หรือรั่วไหลน้อยที่สุด อย่างโครงการตำบลละ 5 ล้านสมัยที่ผมทำที่กระทรวงมหาดไทย เงินรั่วไหลน้อยมาก ทำทั้งเกษตรฯ และโครงการอื่น โดยใช้หลักที่จะมาทำที่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อผมเป็นฝ่ายกำหนดนโยบาย จะได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เรียนรู้จากกระทรวงมหาดไทยมาใช้ที่นี่ได้มากขึ้น

Q : พลิกโฉมเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้ไหม

พืชบางอย่างน่าจะพลิกโฉมได้ เช่น ขณะนี้มีหลักว่าเวลาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ไปแนะนำให้ประชาชนเลี้ยงหรือปลูกอะไร สิ่งเหล่านั้นต้องขายได้ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัด มีข้อตกลงร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและภาคเอกชนในจังหวัด เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคม SMEs จังหวัด เข้ามาเป็นไตรภาคีฝ่ายเกษตรฯ ฝ่ายพาณิชย์ ภาคเอกชน ให้รู้ว่าในจังหวัดของตัวเองมีผักเท่าไหร่ มีพืชเท่าไหร่ มีหมูเท่าไหร่ แล้ววางแผนการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด หรือการทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ปลูกข้าว แต่ปลูกมาแล้วไม่รู้ไปขายใคร

ต่อไปนี้จะไม่ให้เป็นแบบนั้น ถ้าทำเกษตรแปลงใหญ่ต้องมีคนมาทำ matching คู่ค้า จับคู่ค้าสินค้าเกษตรกับผู้ผลิตโดยตรง ผู้ที่ทำหน้าที่นี้คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด ผมพยายามเน้นเรื่องนี้ ถ้าทำสำเร็จจะไม่มีสินค้าล้นตลาด และฝึกชาวบ้าน เพราะต้องยอมรับว่าชาวบ้านปลูกพืชตามความรู้สึก ตามความชำนาญ ทำไร่ก็ทำไร่ ปลูกข้าวก็ปลูกข้าว ต้องค่อย ๆ ปรับ

Q : กลไกป้องกันการทุจริต

สิ่งแรกที่ผมทำคือตัวผมเองและรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คนต้องซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริต มีนอกมีใน เงิน 2.4 หมื่นล้าน ได้บอกกรมทุกกรมแล้วว่า 1.การคัดเลือกเกษตรกร ไม่ใช่รู้จักกับใครแล้วเอาคนนั้นมา ต้องมีทะเบียนเกษตรกร การเลือกพื้นที่ต้องให้ประชาชนทำประชาคม สร้างอ่างเก็บน้ำตรงไหน 2.เมื่อมีปัจจัยการผลิตไปแจก ต้องมีเกษตรกรอย่างน้อย 2 คน ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง 3.ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งรายละเอียดโครงการและเชิญชวนทั้ง 3 องค์กรตรวจสอบตั้งแต่บัดนี้ ถ้าหากพบรอยรั่วตรงไหนให้รีบบอก ไม่ใช่ตรวจตอนทำงานเสร็จแล้วพบความเสียหายเงินก็หมดแล้ว นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งผู้ตรวจราชการกระทรวง 12 คน และผู้ตรวจกระทรวง 14 กรม ลงไปตรวจติดตามงาน