‘สนธิรัตน์’เพิ่มร้านฟาร์มเอ้าท์เล็ตอีก 20 แห่ง เพิ่มช่องทางการค้าเกษตรอินทรีย์

แฟ้มภาพ

“สนธิรัตน์”ตั้งเป้าเพิ่มศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชนปีนี้อีก 20 แห่ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ ให้มีที่จำหน่าย เตรียมเข้าไปช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพิ่มช่องทางค้าขาย เล็งเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ดึงให้นักท่องเที่ยวมาแวะซื้อหาสินค้าก่อนเดินทางกลับ มั่นใจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2561 นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้มีการเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรชุมชน (ฟาร์ม เอ้าท์เล็ต) เพิ่มอีก 20 แห่ง รวมกับที่ตั้งไปแล้ว 43 แห่ง จะทำให้มีฟาร์มเอ้าท์เล็ตทั้งสิ้น 63 แห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับสินค้าของเกษตรกร สินค้าที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชน ผู้ผลิตท้องถิ่น และสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่กระทรวงฯ เข้าไปส่งเสริม โดยมั่นใจว่าจะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตในระดับฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับร้านค้าและจังหวัดที่กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้เข้าไปสำรวจและได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็นฟาร์ม เอ้าท์เล็ต อีก 20 แห่ง ได้แก่ ร้าน Check In Trat จ.ตราด ร้านโครตของฝาก จ.ชัยนาท , ตลาดนัดกาสร จ.สระแก้ว , ร้านวรรณ จ.ปราจีนบุรี , ร้านทรอปิคานา จ.นครปฐม , โอทอปบ้านพ่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ , ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ , ร้านค้าวิทยาลัยเกษตรศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ,ฟาร์มฮัก ป.อุบล จ.อุบลราชธานี , ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลดงขุย จ.เพชรบูรณ์ , ร้าน O2U Organic Fresh Mart จ.แม่ฮ่องสอน , ร้านทีสเปซ จ.นครสวรรค์ , ศูนย์โอทอปช็อป จ. กำแพงเพชร , บจก.ฟาร์มแห่งความสุข จ.ระนอง , ภูรีออร์แกนิกมาร์เก็ต จ.สงขลา , ร้านทางไท จ.สงขลา , เค้กกนิษฐา จ.ตรัง , ตลาดใต้เคี่ยม จ.ชุมพร , Satun Green Outlet จ.สตูล , และร้านร้อยเกาะเซ็นเตอร์ จ.สุราษฎร์ธานี

“จะเข้าไปสนับสนุนฟาร์มเอ้าท์เล็ตเหล่านี้ ให้มีการปรับโฉมร้านค้าให้ทันสมัย เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้ามา และจะเข้าไปให้คำแนะนำ ช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าเป็นที่สนใจ และยังจะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด โดยจะช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าให้เป็นที่รู้จัก ที่สำคัญ จะผลักดันให้ฟาร์มเอ้าท์เล็ต เป็นร้านที่ต้องแวะ ต้องไปเลือกซื้อสินค้า ทั้งซื้อไปกินไปใช้ ไปเป็นของฝาก โดยจะทำการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดที่ร้านค้าตั้งอยู่”นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้กับฟาร์มเอ้าท์เล็ต โดยจะทำการเชื่อมโยงสินค้าระหว่างฟาร์มเอ้าท์เล็ต และสถานที่อื่นๆ เพื่อให้สินค้ามีช่องทางขายได้เพิ่มขึ้น และจะจัดงานจำหน่ายสินค้าตามเทศกาลต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กับฟาร์มเอ้าท์เล็ต รวมทั้งจะเข้าไปช่วยต่อยอดให้มีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เพื่อขยายตลาดสินค้าจากฟาร์มเอ้าท์เล็ตไปทั่วประเทศ


นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ในฟาร์มเอ้าท์เล็ตที่กระทรวงฯ เข้าไปส่งเสริมนี้ จะมีฟาร์มเอ้าท์เล็ตที่จำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย โดยปัจจุบันมีอยู่ 16 แห่ง ได้แก่ ที่ลพบุรี 2 แห่ง นครปฐม 4 แห่ง กาฬสินธุ์ 2 แห่ง ที่กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร นครราชสีมา ราชบุรี นนทบุรี ชัยภูมิ และชลบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งกระทรวงฯ จะใช้ออร์แกนิกฟาร์มเอ้าท์เล็ตเหล่านี้ เป็นช่องทางในการจำหน่ายให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำ จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งพืชผัก และปศุสัตว์ที่ผลิตออกมา จะมีช่องทางการจำหน่ายแน่นอน และในส่วนของเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้คุณภาพและมาตรฐานแล้ว ก็มีแผนที่จะผลักดันเข้าไปจำหน่ายในห้างและส่งออกด้วย