พาณิชย์สู้สงครามการค้าโลก แนะเอกชนคว้าตลาดอินเดีย

อินเดียชูนโยบาย New India เคาะมาตรการใหม่ 100 เรื่องเสริมจุดแข็ง ดึงดูดนักลงทุนไทย “พาณิชย์” เดินหน้าสร้าง strategic partnership กระจายความเสี่ยงหลังสงครามการค้า ด้านเอกชนไทยแห่ลงทุนต่อเนื่อง

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเดินหน้าจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (strategic partnership) ระหว่างไทยและอินเดีย เพื่อขยายการค้าการลงทุน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากภาวะการค้าที่ตึงเครียดจากสงครามการค้า โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในอินเดียเพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวให้มากขึ้น

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ กล่าวบรรยายพิเศษในงานสัมมนา “India : Your Destiny, Your New Destination” ว่า ปัจจุบันประธานาธิบดีอินเดียได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย New India เป็นอย่างมาก โดยได้มีการออกมาตรการใหม่ ๆ 100 มาตรการ เน้นนโยบายหลัก Make in India เพื่อปฏิรูปและผลักดันให้อินเดียเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุน เป็นแหล่งผลิตสินค้า และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีดีพีอินเดียและมีมูลค่าการค้าเติบโตเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งยังเร่งพัฒนาเมืองเป้าหมาย 100 เมืองในอินเดียให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ให้ได้ โดยต้องการเห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2025 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงไทย เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศให้เติบโตขึ้น

“อินเดียมีมาตรการดึงดูดทั้งเรื่องของภาษี เปิดให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และมุ่งส่งเสริม 25 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุน เช่น ด้านพลังงาน รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การเงิน ไบโอเทค รวมไปถึงสุขภาพ”

อินเดียเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าติดอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น เพชร ข้าว วัคซีน เป็นต้น มีจุดแข็งเหมาะกับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะมีจำนวนแรงงานมากถึง 1,000 ล้านคนในปี 2020

อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ เป็นแหล่งวัตถุดิบและทรัพยากรทางทะเลที่พร้อมให้กับผู้ที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจ การลงทุน นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ เพราะในอนาคตคนชั้นกลางในอินเดียจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสินค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย โดย 57% ของ GDP มาจากภาคบริการ ในปี 2560 ไทย-อินเดียมีมูลค่าการค้า 10,385.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34% โดยไทยส่งออกมูลค่า 6,486.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากอินเดีย 3,899.02 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการลงทุนระหว่างไทย-อินเดียมีมูลค่า 13,010 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนของไทยในอินเดีย 8,144 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดียลงทุนในไทย 4,865.27 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจ เช่น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป, ดัชมิลล์ และ เอสซีจี เทรดดิ้ง เป็นต้น

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า นับจากเข้าไปลงทุนในอินเดียเมื่อปี 2000 ถึงปัจจุบันมีการขยายโรงงานการผลิตมากขึ้น สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในอินเดียกว่า 60% มูลค่ารายได้เติบโตกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ


นายจีระวุฒิ เล้าวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ (โรงงาน) บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด ผู้ผลิตถังแก๊สขายใน 70 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มศึกษาและทำตลาดอินเดียได้ 2 ปี แต่เดิมบริษัทมีผู้นำเข้าจากอินเดียอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ได้ทำการศึกษาและโอกาสทางการค้าในอินเดียมากขึ้น เนื่องจากยังเห็นโอกาสอีกมาก และก็ได้ขอรับรองมาตรฐานของสินค้าด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในอินเดีย โดยเชื่อว่าอินเดียยังเป็นตลาดที่จะสร้างโอกาสและรายได้ให้กับบริษัท เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรจำนวนมาก