ส.พืชสวนฯดึงฝรั่งการันตี ยืนกรานใช้ยาฆ่าหญ้าต่อ

ส.พืชสวนฯดึงผู้เชี่ยวชาญแคนาดายันสรรพคุณยาฆ่าหญ้าไกลโฟเสทไม่อันตราย ชี้นโยบายจำกัดพื้นที่ทำต้นทุนเกษตรกรพุ่ง สูญเสียผลผลิตปีละเกือบหมื่นล้าน สวนยางจ่อขาดทุน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ทำไม ? …ใครได้ ใครเสีย ? มีทางออกหรือไม่ ?” ขึ้นที่กรมวิชาการเกษตร โดยเชิญ ดร.เกรแฮม บรูค ผู้อำนวยการองค์การให้คำปรึกษาด้านการเกษตร PG economics จากแคนาดา ซึ่งคลุกคลีในการใช้สารไกลโฟเสท “ราวนด์อัพ” กำจัดวัชพืชมากว่า 20 ปีมาให้ความเห็นเรื่องนี้

ดร.บรูค กล่าวว่า ไกลโฟเสทสามารถกำจัดวัชพืชได้หลากหลาย คุณสมบัติจะไปยับยั้งการสร้างกรดอะมิโนในพืช แต่ไม่ยับยั้งในคนและสัตว์ ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันเมื่อสัมผัส ไม่มีพิษตกค้างในร่างกาย สามารถย่อยสลายในดินและไม่ตกค้างในดิน ไม่ก่อมะเร็ง หน่วยงานภาครัฐและองค์กรนานาชาติกว่า 160 ประเทศ ทั้งสหรัฐฯ บราซิล ฯลฯ วิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์หลายครั้งว่าไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม จึงใช้กันมากว่า 40 ปี แต่รัฐบาลไทยกลับจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้

ทั้งนี้ ในปี 2012 ไทยใช้ไกลโฟเสท 15.3 ล้าน กก. คิดเป็น 33% ของสารกำจัดวัชพืชในไทย โดยใช้ในสวนยางพารา ปาล์ม ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสวนผลไม้จำนวนมาก หากจำกัดพื้นที่การใช้สารนี้ จะทำให้ต้นทุนด้านการกำจัดวัชพืชเพิ่ม 1,836 ล้านบาท หรือคิดเป็น 141.44 บาทต่อไร่ และเกษตรกรต้องสูญเสียผลผลิตไม่ได้คุณภาพอีก 5% คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทั่วประเทศกว่า 7,392 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนเกษตรกรตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“ประเทศศรีลังกาเป็นตัวอย่างประเทศจำกัดการใช้สารนี้ และได้รับผลกระทบต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ประชากรร้อยละ 10 ของศรีลังกาที่ปลูกและผลิตใบชาสูญเสียผลผลิตประมาณร้อยละ 11 ในปี 2016 และสูญเสียต่อเนื่องในปี 2017 ถึงร้อยละ 20 และผลผลิตข้าว ข้าวโพด และหอมแดง ลดลงจากปัญหาวัชพืช ส่งผลให้ศรีลังกาต้องเตรียมนำเข้าสินค้าเหล่านี้มากขึ้น

ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตไม้ตัดดอกส่งออกไปออสเตรเลียไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากกำหนดให้จุ่มปลายก้านดอกไม้ในไกลโฟเสทก่อนการส่งออก บางรายหันไปใช้สารทดแทนอื่นซึ่งมีความเป็นพิษสูงกว่าไกลโฟเสท ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนสารอื่นปนเปื้อนในใบชาที่ส่งจากศรีลังกาหลายครั้ง และทำให้ตลาดมืดที่จำหน่ายไกลโฟเสทขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราคาจำหน่ายสารนี้แพงกว่าปกติ 3-4 เท่า”

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ต้องขายขาดทุน จึงไม่อยากให้ซ้ำเติมเกษตรกรอีก ปกติใช้สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ในราคาพิเศษลิตรละ 100 บาท 1 ลิตรฉีดได้ 1 ไร่ แต่หากใช้แรงงานที่หายากกำจัดแทน ค่าแรงขั้นต่ำจังหวัดระยอง วันละ 338 บาท และสารเคมีตัวใหม่ก็มีราคาสูงถึงลิตรละ 450 บาท ขอให้รัฐกำหนดนโยบายอย่างรอบคอบ