“สยามแก๊ส”ต่อยอดธุรกิจ LPG ในจีน มาบตาพุดต้นแบบรง.ปิโตรฯซัวเถา

“สยามแก๊สฯ” เตรียมลุยโปรเจ็กต์ปิโตรเคมีในจีน อนาคตยก “มาบตาพุด” ไว้ “ซัวเถา” หวังสร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจก๊าซ LPG ที่กลายเป็นธุรกิจหลักในเอเชีย มองอนาคตถึงขั้นลงลึกผลิตเม็ดพลาสติก เน้นรองรับดีมานด์มหาศาลในจีนเป็นหลัก ส่วนธุรกิจในไทยจับมือ EGATi ร่วมประมูลขายก๊าซ LNG 1.5 ล้านตันให้ กฟ.

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP หนึ่งในผู้นำธุรกิจก๊าซ LPG ในประเทศ ได้ขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการบริษัทเชลล์ แก๊ส (LPG) สิงคโปร์ จากบริษัทเชลล์แก๊ส (LPG) โฮลดิ้งส์ อีกไม่กี่ปีต่อมา บริษัทสยามแก๊สฯก็เข้าซื้อกิจการคลังก๊าซของ LBPZHM ในจีนจากบริษัท ชายน์ ท็อป อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสต์เมนต์ จำกัด (Shine Top International Investment) ที่ซัวเถาและบริษัท บีพี โกลบอล อินเวสต์เมนต์ จำกัด (BP Global Investments) ที่จูไห่ ขนาดคลังรวมกัน 300,000 ตัน ส่งผลให้บริษัทสยามแก๊สฯกลายเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่ในเอเชีย

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลัง

จากที่บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG จนกระทั่งปัจจุบัน SGP ได้ขึ้นเป็นผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ด้วยยอดขายมากกว่า 1.5 ล้านตัน/ปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากในช่วงเริ่มต้นที่ซื้อขายก๊าซเพียง 600,000 ตัน/ปี

โดยบริษัทสยามแก๊สฯได้ทำการศึกษาที่จะเข้าไปลงทุนใน “ธุรกิจปิโตรเคมี” กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก-เม็ดพลาสติกในจีนเพิ่มเติมในอนาคตด้วย ซึ่งถือเป็นการต่อยอดและเชื่อมโยงกับธุรกิจก๊าซ LPG ที่บริษัทมีฐานอยู่แล้วในพื้นที่ เมืองซัวเถา ที่บริษัททั้งท่าเรือและคลังก๊าซขนาดใหญ่ที่รองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ซึ่งบริเวณคลังก๊าซดังกล่าวยังมีพื้นที่ว่างให้ขยายกิจการเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของโลก แม้ว่าจะมีโรงงานอยู่เป็นจำนวนมากแต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการใช้ในประเทศได้ทั้งหมด

การนำก๊าซ LPG มาเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงานปิโตรเคมีจะได้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่พลาสติกเกรดคุณภาพสูงไปจนถึงเกรดธรรมดา สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ได้ค่อนข้างสูง ตัวอย่างเช่น จากราคาก๊าซ LPG ที่ 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน เมื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกแล้วจะมีราคาสูงถึง 800 เหรียญ/ตัน เท่ากับมี “ส่วนต่าง” ราคาถึง 500 เหรียญ/ตัน ทำให้บริษัทสยามแก๊สฯต้องมาศึกษาธุรกิจปิโตรเคมีจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ หลังจากนั้นบริษัทจึงจะตัดสินใจว่าควรลงทุนในจีนหรือไม่

“ผมมองธุรกิจปิโตรเคมีมานานแล้ว ถ้าอธิบายให้เห็นภาพชัดก็คือ เราอยากยกเอามาบตาพุดมาไว้ที่ซัวเถาเลย แต่ธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 10,000-100,000 ล้านบาท ถ้าผลศึกษาบอกว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุน ผมมองว่าระดับ 10,000-20,000 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้นก็ยังพอไหวที่จะลงทุน แค่รองรับความต้องการใช้แค่ 1 มณฑลในจีน ผมว่าดีมานด์มันก็มหาศาลแล้ว แต่มองความคุ้มค่าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองไปที่ความเสี่ยงด้วยว่าเป็นอย่างไร” นานศุภชัยกล่าว

บริษัทสยามแก๊สฯยังเตรียมที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทำตลาดในจีนเพื่อรองรับความต้องการใช้ในโรงไฟฟ้าบริเวณจีนตอนใต้ด้วย หลังจากเข้าไปศึกษาตลาดแล้วพบว่ามีโรงไฟฟ้าบางส่วนใช้วิธีนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศแทนที่จะซื้อในประเทศ เนื่องจากอัตราค่าผ่านท่อในจีนสูงมาก ดังนั้นบริษัทสยามแก๊สฯมองว่า “ตรงนี้เป็นโอกาส” และโรงไฟฟ้าเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ไกลจากคลังก๊าซที่ซัวเถามากนัก “ล่าสุดได้เริ่มเข้าไปเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าบางรายแล้วว่าสยามแก๊สฯสามารถนำเข้าก๊าซ LNG ภายใต้ราคาที่เหมาะสมและขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง” นายศุภชัยกล่าว

สำหรับการดำเนินธุรกิจก๊าซในประเทศ บริษัทสยามแก๊สฯร่วมกับบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ EGATi จะเข้าประมูลการขายก๊าซ LNG จำนวน 1.5 ล้านตันให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ จากเป้าหมายของบริษัทที่จะเป็นผู้ทำตลาดก๊าซ LNG ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มเข้าไปเจรจากับรัฐมนตรีพลังงานบางประเทศแล้ว ว่าบริษัทสยามแก๊สฯพร้อมที่จะเป็นผู้ลงทุนในการนำเข้าก๊าซให้ตั้งแต่การจัดหาก๊าซ-ท่าเรือ-คลังก๊าซ “ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาดำเนินการเพียง 20 เดือน”

บริษัทสยามแก๊สฯได้วางเป้าหมายยอดขายก๊าซ LPG ในปี 2561 มีปริมาณการขายประมาณ 3.4 ล้านตัน ส่วนแผนการลงทุนในปี 2561 ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 2,000 ล้านบาท