ทำไมพาณิชย์มั่นใจ ไทยไม่เข้า ‘ภาวะเงินฝืด’

เงินเฟ้อ การใช้จ่าย เงินบาท ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต

ทำไมพาณิชย์มั่นใจ ไทยไม่เข้า ‘ภาวะเงินฝืด’

วันที่ 6 มกราคม 2567 หลายคนอาจจะยังสับสนระหว่าง ภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) แตกต่างกับ เงินฝืด (Deflation) อย่างไร

เพราะจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ เงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 106.96 ลดลง 0.46% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และที่สำคัญการที่เงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จึงทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไทยกำลังเข้าสู่ ภาวะเงินฝืด หรือไม่

รู้จัก ภาวะเงินฝืด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ยังยืนว่า ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

โดย อธิบายได้ว่า การจะเข้าสู่ภาวะ Deflation เงินฝืดได้ หรือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั้น ต้องอิงจาก 1.ดัชนีราคาผู้บริโภคว่ามีการลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา และ 2.ภาวะเงินฝืดนั้น มักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการ เมื่อไม่มีกำลังซื้อสินค้า ตลาดก็จะลดราคา เมื่อราคาสินค้าลดลงมากขึ้น ผู้ผลิตอาจต้องลดอัตราการผลิตลงซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการจ้างงาน เป็นต้น

แต่ภาวะปัจจุบันนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ภาวะเงินเฟ้อลดลง หรือ Disinflation การชะลอตัวของภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไป สังเกตจาก 1.อัตราเงินเฟ้อก็ยังสูงขึ้นแต่สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำลง เช่น อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% แต่ปีถัดไป อัตราเงินเฟ้อตกไปที่ 2.5% เป็นสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง

ADVERTISMENT

ไม่ใช่ภาวะเงินฝืด

ดังนั้น การที่ เงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2566 ลดลง จึงยังไม่ใช่เงินฝืด เพราะเหตุเกิดจากเพียงราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานลดลง ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่การลดลงโดยธรรมชาติแต่เป็นไปตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล

อีกทั้งภาวะราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางปกติ สะท้อนจากภาวะราคาสินค้าและบริการ 403 รายการ ที่เปลี่ยนแปลงในเดือนธันวาคม 2566 ที่มีสินค้าที่ปรับขึ้น 274 รายการ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไก่ย่าง ไข่ไก่ นมสด พริกสด ขิง มะเขือเทศ กระเทียม กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน ค่าเช่าบ้าน

ADVERTISMENT

ขณะที่สินค้าที่ลดลงมีเพียง 107 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร ปลาทู ผักบุ้ง ผักชี มะเขือ ถั่วฝักยาว ต้นหอมลองกอง น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก แก๊สโซฮอล์ 91 น้ำมันดีเซล

ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีอีก 49 รายการ ได้แก่ ชุดนอนเด็ก รองเท้าแตะสตรี ค่าบริการขนขยะค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี หนังสือพิมพ์ ค่าเช่าสระว่ายน้ำ นั่นจึงยืนยันได้ว่า ไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

สมมติฐาน เงินเฟ้อ ปี 2567

โดย กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จะติดลบ 0.3 – 1.7% (ค่ากลาง 0.7%) จากสมมุติฐานการประมาณการณ์ ซึ่งประกอบด้วย

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 2.7-3.7%
2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
3. อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

โอกาสเกิดเงินฝืด ปี 2567

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยังไม่เรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ‘เงินฝืด’ แต่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมกราคม ปี 2567 ก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำระดับติดลบต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 4

โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่

1) มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย

2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม

3) ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง

4) มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt

แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (แทนที่จะติดลบ) ได้ เช่น การท่องเที่ยวหากมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นได้ แม้จะภาวะชั่วคราวก็ตาม

และหลังจากนี้ยังต้องติดตามดูว่า รัฐบาลจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างเงินดิจิทัล วอลเล็ต รวมถึงมาตรการผ่อนคลายภาระผู้บริโภค ทั้งการลดค่าน้ำค่าไฟ อย่างไรต่อ และมาตรการเหล่านั้นจะมีผลต่อเนื่องถึงทิศทางราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อในปี 2567 เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด