ต้านไม่ไหวลดสัดส่วน 2:1 นำเข้าข้าวสาลี

ชงสูตรแก้ปัญหานำเข้าข้าวสาลีใหม่ “นบขพ.” พ.ค.นี้ วงการข้าวโพดลือสะพัด ลดสัดส่วนสูตรรับซื้อข้าวโพด-ข้าวสาลี จาก 3 ต่อ 1 เหลือ 2 ต่อ 1 ตามคำร้องผู้ผลิตอาหารสัตว์แต่บังคับซื้อข้าวโพด กก.ละ 8.50 บาท

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์การกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าเพื่อทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคม 2561 จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูตรใหม่ จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน เพื่อจะได้สิทธินำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (3 ต่อ 1)

“คณะทำงานได้หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์และผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยนำปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาศึกษา เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ต้องนำเสนอ นบขพ.เพื่อพิจารณาก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร”

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวโพด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 คณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ฯ เรียกประชุมแก้ปัญหาการกำหนดสัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าทดแทนข้าวโพด ตามที่ก่อนหน้านี้สมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้เข้าร้องเรียนถึงปัญหาการกำหนดสัดส่วน 3 ต่อ 1 และการกำหนดราคารับซื้อ กก.ละ 8.00 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดในฤดูกาลนี้ ปรับลดลง และราคาข้าวโพดในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม กก.ละ 8 บาท เป็น กก.ละ 9 บาท ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์เกรงว่าหากรับซื้อข้าวโพดทั้งหมดในประเทศตามสัดส่วนดังกล่าวแล้วคิดทอนเป็นปริมาณนำเข้าข้าวสาลี ก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงได้ร้องให้รัฐลดสัดส่วน เหลือ 2 ต่อ 1

“ในที่ประชุมได้สรุปว่าจะมีการปรับลดสัดส่วนการรับซื้อจาก 3 ต่อ 1 ให้เหลือ 2 ต่อ 1 ตามคำร้องของผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ได้ “เพิ่ม” ราคารับซื้อ เป็น กก.ละ 8.50 บาท จากเดิมที่กำหนดไว้ กก.ละ 8.00 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับราคาข้าวโพดในตลาด เบื้องต้นคาดว่าผู้ผลิตอาหารหมูเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ข้าวสาลีในส่วนผสมมากที่สุดร้อยละ 40% หรือบางรายอาจจะใช้เฉพาะข้าวสาลีอย่างเดียวไม่ใช้ข้าวโพดเลย ส่วนอาหาร ไก่ ใช้ข้าวสาลีสัดส่วนร้อยละ 20-35 แล้วแต่ความเหมาะสมด้านราคาและคุณภาพ”

ทั้งนี้ หากประเมินว่าหากพิจารณาจากจำนวนสัตว์ (ตัวกิน) คาดว่าความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 8.2 ล้านตัน ซึ่งข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปริมาณ 4.9-5 ล้านตัน บวกกับผลผลิตข้าวโพดหลังนา 1 ล้านไร่ คิดจากพื้นที่ที่กรมส่งเสริมการเกษตรรณรงค์ปลูก 8-9 แสนไร่

สำหรับคณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ฯชุดนี้ ทาง นบขพ.ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 มอบหมายอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ร่วมด้วยกรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าพืชไร่ สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ศึกษาวิเคราะห์ปริมาณผลผลิต-ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สัดส่วนและการใช้สินค้าทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ ปริมาณอาหารสัตว์ที่ใช้ในประชากรสัตว์แต่ละชนิด และกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าทดแทนต่อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาให้รายงาน นบขพ.ทราบภายใน 30 วัน