กลุ่มทุนทหาร-การเมืองคึก พาเหรดลงทุนโรงเรียนการบิน

(แฟ้มภาพ) BAC Academy ของบริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ฯ โรงเรียนการบินเอกชนแห่งแรกในไทย

นักธุรกิจ-ทุนทหาร-การเมืองแห่ตั้งโรงเรียนผลิตบุคลากรด้านการบิน รับอุตฯการบินของไทย-เซาท์อีสต์เอเชียโต แห่จดทะเบียน-ขอใบอนุญาต กรมท่าอากาศยาน เผยขอใช้สนามบินภูมิภาคเป็นสนามฝึกเพียบ กพท.แจงอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ 2-3 ราย “ปิยะ ตรีกานนท์” บอสใหญ่ บางกอกเอวิเอชั่นฯ ชี้ไม่ง่ายต้องมีความน่าเชื่อถือ-สายป่านต้องยาว

เอเชียแปซิฟิกรวมถึงประเทศไทยยังเป็นภูมิภาคที่ธุรกิจการบินมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องกว่า 6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของธุรกิจการบินโลกที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% ต่อปี โดยมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรด้านการบินอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจสายการบินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนและนักธุรกิจได้จดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนเปิดสอนด้านการบินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถาบันการศึกษา โดยเริ่มทยอยเห็นภาพที่ชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อผลิตบุคลากรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการบิน ตั้งแต่ส่วนต้อนรับบนเครื่องบิน บริการภาคพื้น การซ่อมบำรุง รวมถึงนักบิน เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจสายการบินทั้งในไทยและเอเชียแปซิฟิกที่ธุรกิจการบินอยู่ในช่วงขยายตัวสูงและมีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจด้านการบินทุกแขนงอย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้มีโรงเรียนการบินเล็ก ๆ ที่เกิดใหม่จำนวนหนึ่ง เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการสร้างบุคลากรด้านการบิน ทั้งนักบิน ช่างซ่อมเครื่องบินและอื่น ๆ หลังไทยเกิดภาวะขาดแคลนนักบินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”

แห่ตั้ง ร.ร.การบิน

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าล่าสุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม 2561) มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนตั้งบริษัทโดยระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการที่เกี่ยวกับธุรกิจการบินเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง อาทิ บริษัท รติยา การบิน จำกัด รับสอนเกี่ยวกับวิชาชีพการบิน, บริษัท อีเกิล เอวิเอชั่น เซนเตอร์ จำกัด เปิดสอนและฝึกอบรมนักบินส่วนบุคคล นักบินพาณิชย์, บริษัท เอทีดีไอ พรีเมี่ยมพลัส จำกัด การศึกษาในธุรกิจการบิน การโรงแรม งานด้านบริการ เป็นต้น

จากเมื่อช่วงปี 2560 มีผู้ขอจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อเปิดโรงเรียนสอนการบินหลายแห่ง อาทิ บริษัท ลอสแองเจลิส เฮลิคอปเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอเอฟเอ แอโรนอตติคอล จำกัด, บริษัท เอวิเอชั่น รีซอร์สเซส จำกัด, บริษัท เชียงใหม่ ฟลายอิ้ง แอ็ดเวนเจอร์ จำกัด, บริษัท ซีแอลเอ็มวี เอวิเอชั่น จำกัด, บริษัท ไทย ไฟลท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ไทย แอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ไทย เอวิเอชั่น จำกัด เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบรายชื่อกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนดังกล่าว พบว่ามีหลายบริษัทมีนักธุรกิจ นายทหารนอกราชการ นักการเมือง เป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท อาทิ บริษัท ไทย เอวิเอชั่น มีนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) โฆษกพรรคชาติพัฒนา รวมทั้งเป็นผู้บริหารบริษัทไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส จำกัด ผู้ให้บริการด้านการบินส่วนตัวรายใหญ่ และนายสมศักดิ์ ดารารัตน์โรจน์ ประธานกรรมการบริหารนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร เป็นผู้ถือหุ้น ขณะที่บริษัท ไทย แอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ มีพลอากาศตรีกมล ผิวดำ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ เช่นเดียวกับ บริษัท ซีแอลเอ็มวี เอวิเอชั่น ที่มี พ.อ.อ.ประกอบ กล้าหาญ เป็นกรรมการ

เช่าพื้นที่สนามบิน ทย.ฝึกบิน

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนการบินจำนวนมากให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาขอใช้พื้นที่สนามบินภายใต้การดูแลของ ทย.ทั่วประเทศสำหรับทำการเรียนการสอนและฝึกบินอยู่เป็นระยะ เช่น นครราชสีมา, สกลนคร, นครพนม, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, พิษณุโลก รวมถึงชุมพร

สอดรับกับว่าที่ร้อยตรีอัธยา ลาภมาก ผู้อำนวยการท่าอากาศยานขอนแก่น ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมามีโรงเรียนการบิน 5-6 แห่ง ติดต่อเพื่อขอใช้พื้นที่ของสนามบินขอนแก่น เพื่อทำการสอน-ฝึกบิน และล่าสุดมีโรงเรียนการบินใหม่ที่ติดต่อขอใช้พื้นที่ฝึกบินอีก 2 ราย คือบริษัท ไทย แอร์โรนอติคอล เซ็นเตอร์ (ทีเอซี) และบริษัท เอเอฟเอ แอโรนอติคอล

ยื่นขอใบอนุญาตจาก กทพ.เพิ่ม

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ขณะนี้การขอจัดตั้งโรงเรียนการบินมีมาเรื่อย ๆ ปีที่แล้วอนุมัติไป 2 แห่ง ขณะนี้มียื่นคำขอ 2-3 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปี และจะมีการตรวจสอบด้านมาตรฐานทุกปี โดยปัจจุบันมีโรงเรียนการบินที่ได้รับอนุญาตแล้ว 12 แห่ง ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือน, บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด, วิทยาลัยการบินนานาชาติ, บริษัท โรยัล สกายเวย์ส จำกัด, บริษัท ไทย เจนเนอรัลเอวิเอชั่น เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ศรีราชา เอวิเอชั่น จำกัด, บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด, บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ดี-0507 ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, บริษัท Thai Inter Flying และบริษัท Premium Airlines

ขณะที่นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ กพท.กล่าวว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนด้านการบินนั้นจะเป็นไปตามที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด เช่น ประเภทหลักสูตร สถานที่เรียน อุปกรณ์การเรียน คุณสมบัติครูผู้ฝึกสอน ฯลฯ

“บีเอซี” ชี้ธุรกิจนี้ไม่ง่าย

นาวาอากาศโทปิยะ ตรีกานนท์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท บางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) โรงเรียนสอนการบินเอกชนรายแรกของไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงตัวเลขการตั้งบริษัทเพื่อเปิดโรงรียนการบินที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจเปิดโรงเรียนการบินของกลุ่มทุนต่าง ๆ ที่มากขึ้น เพราะทุกคนมองเห็นโอกาส แต่การจะบริหารให้โรงเรียนการบินประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งมีสายป่านที่ยาวด้วย และด้วยมาตรฐานที่สูงนี้ทำให้ปัจจุบันมีโรงเรียนการบินที่ทำการเรียนการสอนหลัก ๆ ไม่มากนัก

สอดรับกับแหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการบินรายหนึ่ง ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงเรียนการบินกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่หลายคนกำลังมองเห็นช่องทางสร้างรายได้ เพราะค่าเรียนสูง เช่น หลักสูตรนักบินอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีนักบินจบใหม่จากโรงเรียนสอนการบินต่าง ๆ ไม่มีงานทำไม่ต่ำกว่า 300 คน เพราะเรียนจบมาแล้วแต่สอบไลเซนส์เพื่อประกอบวิชาชีพไม่ผ่าน