ร้องกระทรวงพลังงาน ทบทวนการรับซื้อไฟก๊าซชีวภาพใหม่

สมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพฯ จี้รัฐทบทวนการสั่งชะลอซื้อไฟจากพลังงานทดแทน ทำเงินลงทุนหายวับจากระบบ 1.5 แสนล้าน เฉพาะประเภทก๊าซชีวภาพอย่างเดียวลงทุนหาย 3.6 หมื่นล้าน คาดราคาพืชผลการเกษตรโดนหางเลขราคาตกแน่

นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศว่าจะหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปี (2561-2565) นั้น ได้ส่งผลกระทบการลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนให้หยุดชะงักลง เมื่อประเมินภาพรวมแล้วพบว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากทุกประเภทบนพื้นฐานที่ว่าจะต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่ 500 เมกะวัตต์/ปี การลงทุนเฉลี่ยที่ 60 ล้านบาท/เมกะวัตต์นั้น เท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหายไปจากระบบ 1.5 แสนล้านบาท เมื่อประเมินเฉพาะกลุ่มก๊าซชีวภาพที่ต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่ 600 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าจะต้องมีการรับซื้อที่ประมาณ 120 เมกะวัตต์/ปี เท่ากับว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนหายไปจากระบบที่ 3.6 หมื่นล้านบาท จึงต้องการให้มีการทบทวนการประกาศดังกล่าว เพราะผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่เพียงอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่ต้องนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มชีวมวลอีกด้วย

ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 หรือ แผน AEDP (Alternative Energy Development Plan) ยังต้องรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพอีก 600 เมกะวัตต์

ฉะนั้นจึงต้องการนำเสนอให้ภาครัฐกำหนดให้การรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเป็น “พลังงานเชิงนโยบาย” ที่ต้องรับซื้อไฟฟ้า ด้วยการให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมนำเสนอโครงการเข้ามา ภายใต้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานปาล์มน้ำมันและโรงงานแป้งที่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตที่ต้องการลงทุนทำโรงไฟฟ้าเพื่อจัดการกับน้ำเสีย

และหากจะให้คุ้มค่าลงทุนคือต้องขายไฟฟ้าเข้าระบบด้วย โดยในช่วงที่มีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากโรงงานปาล์มและโรงงานแป้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ระบบสายส่งไม่สามารถรองรับได้

“อยากให้มองถึงข้อดี-ข้อเสียของพลังงานแต่ละประเภทให้รอบด้านจะมองเพียงราคาต่ำอย่างเดียวไม่ได้ ถ้ามองว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหินมั่นคงกว่าเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทน แต่ทั้งก๊าซและถ่านหินต้องนำเข้าจากต่างประเทศเกือบ 100% ในขณะที่พลังงานทดแทนใช้วัตถุดิบในประเทศ ภาครัฐก็ต้องดูว่าจะเลือกความมั่นคงแบบใด”

นายผจญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่มีการระบุว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนค่อนข้างแพง ซึ่งหากสามารถปรับต้นทุนให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.40 บาท/หน่วย ก็อาจจะมีการรับซื้อนั้น ภาครัฐควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยว่าราคาดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนอื่น ๆ เช่น ระบบสายส่ง ซึ่งราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายคือ 3.75 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งแต่ 800 เมกะวัตต์ขึ้นไปก็ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และที่สำคัญควรมองให้รอบด้านว่า โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนอกจากจะนำน้ำเสียมาทำให้เกิดประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญได้ใช้ศักยภาพด้านเกษตรกรรมมาทำประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงอาจจะยังแข่งขันไม่ได้ แต่เชื่อมั่นว่าในอนาคตจะแข่งขันได้เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้ต้นทุนลดลง เห็นได้ชัดจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จากที่เคยมีต้นทุนที่ 130 ล้านบาท/เมกะวัตต์ จนกระทั่งล่าสุดต้นทุนลดลงมาอยู่ที่ 27 ล้านบาท/เมกะวัตต์เท่านั้น