อียูข้องใจเรือประมงหายพันลำ จี้กรมเจ้าท่าแจง-หวั่นติดใบเหลือง IUU ต่อ

แฉอียูยังไม่มีแนวโน้มปลดใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย IUU เหตุข้องใจกรมเจ้าท่าตอบคำถามไม่ชัดเจนกรณีเรือประมงหาย 1,300 ลำและมีการแจ้งเรือจมเกือบ 1,000 ลำ ภายในเวลาแค่ 2 ปีเศษ ให้เวลา 3 เดือนแก้ความคลุมเครือ “มงคล” ชี้อาจมีการขายเรือหรือนำเรือไปจับปลาประเทศเพื่อนบ้านแทน

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่สหภาพยุโรป (อียู) เดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-11 เม.ย.ที่ผ่านมาในหลายเรื่องอียูค่อนข้างพอใจในการแก้ไขปัญหาที่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่มีความชัดเจนทั้งจากการลงพื้นที่ปฏิบัติการจริงและการตอบคำถามอียูได้ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องมาจากความร่วมมือระหว่างชาวประมงกับกรมประมงที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี สั่งดำเนินการตามที่ชาวประมงร้องขอให้แก้ไขในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และเข้ามารับงานแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่ก่อนหน้านี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.) เป็นหลัก

แต่ในส่วนของกรมเจ้าท่าที่ดูแลเรื่องเรือประมง และกรมเจ้าท่าขอดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว อียูไม่พอใจในการชี้แจงความคืบหน้าเรื่องเรือประมงที่หายไปจากระบบอย่างไร้ร่องรอย จากการที่กรมประมงออกใบอนุญาตการทำประมงปี 2559-2560 จำนวน 12,700 ลำ แต่เมื่อมีการร่วมมือกันหลายฝ่ายในการตรวจสอบจำนวนเรือที่แท้จริงและจัดทำอัตลักษณ์เรือในปี 2560 ที่ผ่านมา จำนวนเรือที่แท้จริงหายไปประมาณ 1,300 ลำ และมีการแจ้งจากชาวประมงที่ครอบครองเรือดังกล่าวว่าเรือจมเกือบ 1,000 ลำ ทำให้อียูข้องใจมากว่าในระยะเวลาประมาณ 2 ปีเศษ เรือประมงพาณิชย์ไทยทำไมจึงจมในทะเลมากขนาดนี้ จึงเกรงว่าเรือเหล่านี้ทั้งที่แจ้งจมและยังไม่จมจะลักลอบออกไปจับปลาแบบผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการติดตั้ง VMS

“ชาวประมงเอาทะเบียนเรือไปขอกรมประมงให้ออกใบอนุญาตการทำประมง แต่เรือไม่มีอยู่จริง อาจจะเป็นเรือกระดาษ หรือหลายรายขายเรือให้ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้เอาทะเบียนเรือไปด้วย เพราะไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายในการแจ้งต่อกรมเจ้าท่า เจ้าของเรือไทยจึงแจ้งว่าเรือจม หรือชาวประมงจำนวนมากนำเรือไปเป็นเรือสัญชาติประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา ไปเลย ซึ่งเรื่องนี้อียูให้เวลากรมเจ้าท่าประมาณ3 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ ในการแก้ไขปัญหาและต้องตอบคำถามได้ชัดเจนไม่คลุมเครือ ในช่วงดังกล่าวนี้อียูจึงยังคงสถานะใบเหลือง IUU ไทยอยู่”

ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกบทบัญญัติหลายข้อในคำสั่งของ คสช.เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฯเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา นายมงคลกล่าวว่า คสช.ขอยกเลิกเพื่อป้องกันความสับสนในการดำเนินการ เพราะไปซ้ำซ้อนกับพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ออกมาภายหลังคำสั่ง คสช. แต่ในข้อที่ 22 คสช.กลับไม่ยกเลิก ทั้งที่สร้างความเดือดร้อนต่อชาวประมงมาก เพราะการกักเรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เท่ากับตัดอาชีพการทำมาหากิน หลายคดีเป็นความผิดเล็กน้อยหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้เจตนา

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เดินทางไปยังบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อชี้แจงเพิ่มเติมหลังจากที่คณะกรรมาธิการอียูมาเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยในการยกระดับไปสู่การทำการประมงที่ยั่งยืนห้วง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยการปฏิรูปการประมง โดยปรับปรุงกฎหมายประมงใหม่ จัดระบบในการติดตามเฝ้าระวังเรือที่ออกไปทำการประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อทราบว่าปลาจับจากที่ไหนจากเรือลำไหน ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งระบบทั้งหมดที่ใช้เวลาทำเกือบ 3 ปี

“วันนี้ไทยจะต้องออกมาบอกกับนานาชาติได้ว่าเราได้เดินทางมาถูกทางแล้ว และก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่เราไม่หยุดแค่นี้ โดยเฉพาะการประกาศเจตนารมณ์ที่ไทยมุ่งเป้าหมายให้ไทยเป็นไอยูยูฟรี หรือสัตว์น้ำที่จับในประเทศจะไม่มีการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงสัตว์น้ำที่นำเข้าส่งออกด้วย แต่เรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้นคงตอบไม่ได้ว่าอีกกี่ปีเพราะขั้นตอนเหล่านี้มีรายละเอียดมาก แต่เป็นความตั้งใจ เป็นนโยบายใหม่ที่รัฐบาลกำลังเริ่มต้นและบรรลุวัตถุประสงค์ให้ได้”

ด้านนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต่างชาติโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญ ๆ ที่นำเข้าสินค้าประมงของไทยอย่าง อียู อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น แสดงถึงการยอมรับว่านโยบายภาครัฐที่จริงจัง และจริงใจในการแก้ไขปัญหาไอยูยู ทั้งการปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย เราไม่ควรจะกังวลในเรื่องสถานะใบเหลือง/ใบเขียว ซึ่งเป็นส่วนที่สหภาพยุโรปพิจารณา แต่สิ่งที่เราควรทำอย่างต่อเนื่อง คือการร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรประมงทะเลให้ฟื้นกลับคืนมาสมบูรณ์ เพื่อให้อาชีพประมงและการทำประมงไทยมีความยั่งยืน