ความหวังคนไทย “สยามโลหะ” ต่ออาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียม จ.พังงา แบต EV ต้องเกิด

“สยามโลหะ” ต่ออาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียม จ.พังงา แบต EV ต้องเกิด

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เผย “สยามโลหะอุตสาหกรรม” ต่ออาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียม จ.พังงา หลังหมดอายุเมื่อ 14 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา ลุ้นอีก 4 เดือนได้ลุยสำรวจต่อ คาดได้แร่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ให้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา บริษัท สยามโลหะอุตสาหกรรม จำกัด ในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการสำรวจแหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา อาชญาบัตรสำรวจได้หมดอายุลงแล้ว หลังจากยื่นขอสำรวจตั้งแต่ปี 2562 ครบ 5 ปี

ต่อมาบริษัทสยามโลหะฯ ได้ทำการยื่นขอต่ออาชญาบัตรสำรวจในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง โดยสถานะได้ยื่นมาที่ อุตสาหกรรมจังหวัด เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการจะประกอบไปด้วย 1.ตรวจสอบแผนที่ 2.ตรวจสอบคุณมบัติ 3.ตรวสอบแผนงานและวิธีการสำรวจแร่ 4.เขียนแผนที่ 5.ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 6.ประมวลเรื่องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด 7.กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ตรวจสอบ และประมวลเรื่อง 8.นำเสนอคณะกรรมการ 9.อธิบดี กพร. พิจารณาอนุญาต

ซึ่งระหว่างนี้ บริษัทสยามโลหะฯ สามารถเข้าพื้นที่ได้ ในกรณีที่เจ้าของพื้นที่ยินยอม แต่จะทำการสำรวจไม่ได้ ต้องรอใบอนุญาตอาชญาบัตรก่อน

“อาชญาบัตรที่ต่อใช้เวลาไม่นาน ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่เดิมอยู่แล้ว กระบวนการตรวจสอบก็จะง่ายขึ้น แต่ผู้ขอต้องทำรายละเอียดชี้แจงว่า เหตุใดจึงต้องทำการสำรวจซ้ำในที่เดิม ถ้าดูจากกระบวนการตามที่แจ้งด้านบน อย่างเร็วก็คงใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่หน่วยงานอื่นด้วย เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือการพิจารณาของผู้ว่าฯ ที่จะส่งเรื่องมายัง กพร.”

ทั้งนี้ แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงาซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็ง ที่คาดว่าจะมีแร่ลิเทียมอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ มีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25%

ADVERTISMENT

คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน