กรมเจรจาการค้าฯ ชี้ช่องเกษตรกรใช้ประโยชน์จาก FTA เปิดตลาดผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก

แฟ้มภาพ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชี้ช่องเกษตรกรใช้ประโยชน์จาก FTA เปิดตลาดผลไม้ไทยสู่ตลาดโลก เผยอาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ลดภาษีลงเหลือ 0% หมดแล้ว ส่วนเกาหลี และญี่ปุ่น ลดภาษีลงแล้วหลายรายการ โชว์ตัวเลขส่งออกไปตลาดที่ลดภาษีปี 60 อาเซียนโต 90.35% จีนโต 25.46% มีทุเรียน ลำไย มังคุดเป็นสินค้าดาวเด่น

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ค.2561 กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะชาวสวนผลไม้ ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าของไทยได้ลดเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าผลไม้ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และแนะนำเกษตรกรให้รู้ทันกฎเกณฑ์การค้าและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อให้พัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งการขายในประเทศและส่งออก รวมไปถึงการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบันในการขยายตลาด

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศคู่เจรจา FTA หลายประเทศ ได้มีการลดภาษีผลไม้ให้กับไทยแล้ว โดยอาเซียนส่วนใหญ่ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าผลไม้และผลไม้แปรรูปภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 ส่งผลให้การส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นตลาดอันดับหนึ่งของผลไม้ไทย โดยในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 1,181 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 90.35% มีสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด มียอดส่งออกลำไย 675 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 64% ทุเรียน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 230% และมังคุด 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 132%

ส่วนตลาดจีน ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากอาเซียนและสหรัฐฯ มีการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2546 โดยปี 2560 ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปจีน 740 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.46% เมื่อเทียบกับปี 2559 และสูงขึ้นกว่า 1,650% เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกภาษีนำเข้าผลไม้จากไทย โดยผลไม้สำคัญของไทยที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด โดยส่งออกลำไย 241 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 36.54% ทุเรียน 215 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 32.64% และมังคุดไปจีน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.98%

นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจา FTA อื่นๆ ที่ได้ลดภาษีนำเข้าผลไม้ เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับผลไม้ที่นำเข้าจากไทยแล้วทุกรายการ เกาหลีใต้ ยกเลิกภาษีแล้ว เช่น ถั่วพิตาชิโอ ถั่วแมคคาดีเมีย อัลมอนด์ ฮาเซลนัท มะพร้าว ราสเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ เกรฟฟุต และแตงโม เป็นต้น ส่วนผลไม้ที่ลดภาษีแล้ว แต่ยังไม่เป็น 0% เช่น ฝรั่ง มังคุด มะม่วง ปัจจุบัน 24% จากอัตราปกติ 30% และทุเรียน 36% จากปกติ 45% ส่วนญี่ปุ่น ยกเลิกภาษีแล้ว เช่น ถั่วอัลมอนด์ ฮาเซลนัท ถั่วพิตาชิโอ ถั่วแมคคาดีเมีย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว แอปเปิล ลูกแพร แตงโม มะม่วง มังคุด และทุเรียน เป็นต้น

“ความตกลงการค้าเสรี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย แต่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ก็ต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดต่างประเทศนำเข้าผลไม้จากไทยมากขึ้น ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากชี้โอกาสในการใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี ยังจะช่วยแนะนำการผลิตผลไม้ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งต้องทำให้ดีตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ เพราะล้วนแต่เป็นส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทย” นางอรมนกล่าว