ราคาน้ำมัน-สินค้าเกษตรสูง ดันเงินเฟ้อ เม.ย.61 เพิ่มขึ้น 1.07% สูงสุดรอบ 14 เดือน

ราคาน้ำมัน-ราคาสินค้าเกษตรสูงดันเงินเฟ้อ เม.ย. 61 เพิ่มขึ้น 1.07% สูงที่สุดในรอบ 14 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อ 4 เดือนเพิ่มขึ้น 0.75% อย่างไรก็ดี ทั้งปียังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีโต 0.7-1.7%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวถึงสถานการณ์ ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนเมษายน 2561 เท่ากับ 101.57 สูงขึ้น 1.07% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 14 เดือน อีกทั้งสูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2561 ก่อนหน้า 0.79%

ทั้งนี้ ส่งผลให้ 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2551) เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.75% อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2561 ขยายตัว 0.7-1.7% ภายใต้สมมุติฐานเดิมที่คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 3.6-4.6% ราคาน้ำมัน 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากราคากลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 4.69% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 หมวดอาหารสด สูงขึ้น 0.49% โดยเฉพาะราคาผักสด สูงขึ้นเป็นเดือนที่ 5 เช่น มะนาว คะน้า แตงกวา ผักกาดขาว เป็นต้น และการปรับขึ้นของหมวดเครื่องดื่ม ทั้งที่มีและไม่แอลกอฮอล์ ขณะที่ สินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่หมวดปศุสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่ไก่ และหมวดเครื่องประกอบอาหาร น้ำตาลทราย น้ำมันพืช

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2561 สินค้า 422 รายการที่ติดตาม ราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมี 71 รายการ และราคาสินค้าที่ปรับลดลง 112 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไขไก่ ข้าวสารเหนียว ปลาช่อน น้ำปลา น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้า ขณะที่สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 239 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์ ผักสด ผลไม้สด ปลาหมึกกล้วย กุ้งขาว ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง

แนวโน้มเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีโอกาสทั้งปี 1% เนื่องจากปัจจัยของราคาน้ำมันที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นที่จะมีผล ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นมีผลต่อรายได้ของเกษตรกร และกระตุนการจับจ่ายซื้อสินค้า ประกอบกับเศรษฐกิจมีการขยายตัวและเป็นไปในทิศทางที่ดี พร้อมกันนี้ โครงการบัตรสวัสดิการก็ส่งผลต่อการลดค่าครองชีพให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยอีกด้วย การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชนก็เป็นตัวกระตุ้นเช่นกัน