“ญี่ปุ่น” รุกหนัก จีบไทยร่วม CPTPP “สมคิด” ยันไทยยินดีเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่

แฟ้มภาพ
“ญี่ปุ่น” รุกหนัก จีบไทยร่วม CPTPP “สมคิด” ยันไทยยินดีเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ เผยส่งอธิบดีกรมการค้า-เจรจาระหว่างประเทศเดินสายล็อบบี้ 11 ประเทศสมาชิก แย้มมีเวลาตัดสินใจถึงปี 62 ก่อนผูกพันทางกฎหมาย

เมื่อเวลา 15.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ภายหลังนายโทชิมิตสึ โมเทกิ (H.E. Mr.Toshimitsu Motegi) รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (รับผิดชอบนโยบายด้านเศรษฐกิจและการคลัง) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดูแลเรื่องข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ CPTPP ที่มี 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมโดยเฉพาะเข้าพบ ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นเห็นว่าให้ความสนใจ CPTPP อาทิ มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งนายโทชิมิตสึ ได้สอบถามถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ของ CPTPP โดยรัฐบาลไทยได้แสดงความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากประเทศไทยส่งเสริมเรื่องเขตการค้าเสรีอยู่แล้วและเชื่อมั่นว่าการค้าเสรีในอนาคตข้างหน้ามีความสำคัญ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะเข้าร่วม ถึงแม้ว่าแต่ละประเทศจะมีข้อจำกัดแต่โดยหลักการใหญ่แล้วทุกคนเห็นชอบร่วมกันในเรื่องการค้าเสรี” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ภายหลังจากการหารือในวันนี้จะมีการตั้งคณะทำงาน โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพหลักเพื่อติดต่อและประสานงานหารือในประเด็นปลีกย่อยเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายฝ่ายมาศึกษารายละเอียดเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ซึ่งขณะนี้อธิบดีกรมการค้าและกรมเจรจาได้รับมอบหมายให้เดินสายไปแต่ละประเทศเพื่อให้การสนับสนุนไทยเป็นสมาชิก CPTPP

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นในฐานะประเทศหลักจะช่วยให้คำแนะนำในแต่ละประเด็นเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคหรือผ่อนหนักให้เป็นเบา

“ญี่ปุ่นยืนยันว่าไทยเป็นประเทศที่เป็น Destination ของการลงทุน ญี่ปุ่นจึงอยากให้ไทยเป็น Partner ไปตลอด ซึ่งการทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) หรือ JTEPA) และ CPTPP เป็นเรื่องที่สอดคล้องกัน” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้าสองประเทศจะมีความร่วมมือในเรื่องดิจิทัลมากขึ้น เช่น IoT Big data และ AI ต่อจากนี้จึงเป็นการใช้เวลาเพื่อวางรากฐานร่วมกันมากขึ้น มากกว่าเรื่องรถยนต์เหมือนในอดีต

Advertisment

“CPTPP เป็นการเปิดการค้าเสรีค่อนข้างใหญ่ทีเดียว ถ้าเราไม่ Join กับเขา…เพราะการลงทุนของต่างประเทศจะให้ความสนใจประเทศที่ Join กับเขามากกว่า ทั้ง CPTPP และ RCEP ครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งเรามีเวลาตัดสินใจครั้งสุดท้ายก่อนจะมีผลผูกพันทางข้อกฎหมายได้ถึงต้นปี 2562” นายสมคิดกล่าว