“เดลต้า” โดดชิงเค้กชินส่วน EV แง้มหารือ 2 บริษัทผุดสถานีชาร์จในปั๊ม

“เดลต้า” ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เบอร์ 1 โลก โดดร่วมชิงเค้กชิ้นส่วนรถ EV-อากาศยาน จ่อผลิตสถานีชาร์จลุ้นรัฐออก มอก.-สิทธิประโยชน์หนุน แง้มหารือ 2 บิ๊กผู้ค้าน้ำมันเล็งผุด EV charger ทุกปั๊ม

นายดิ๊ก เซีย ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในไทย เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจมาผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น เพราะแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเกิดขึ้น บวกกับนโยบายสนับสนุนการลงทุนของทางภาครัฐในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยมีประเมินว่าความต้องการทั่วโลกมีถึง 25-30% จากปี 2560 ที่พบว่าสัดส่วนรถ EV มีเพียง 1.2% ของทั่วโลกเท่านั้น หรือจำนวน 1.2 ล้านคัน

“ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดรถ EV โตขึ้นมาก เจ้าตลาดใหญ่ยังคงเป็นจีนมีสัดส่วนถึง 50% ของทั่วโลก ขณะที่ยุโรปมีสัดส่วน 25% อเมริกา 15% ที่เหลืออีก 15% ในประเทศอื่นรวมเอเชียและในอาเซียน สำหรับประเทศไทยด้วยการเป็นฐานและมีโรงงานผลิตรถอยู่ที่นี่ ดังนั้นบริษัทรถยุโรปจึงมีการส่งเสริมการผลิตรถ EV ที่นี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแรงสนับสนุนของรัฐบาล จึงคาดว่าในอีกไม่นานคนไทยจะเริ่มใช้รถ EV แทนที่รถใช้น้ำมัน จากเดิมยังคงมีสัดส่วนน้อยมากไม่ถึง 1% หากรัฐบาลให้การสนับสนุนรถยนต์ EV และทำให้ราคาต่ำกว่ารถใช้น้ำมันทั่วไป จะเพิ่มจำนวนการใช้รถ EV มากขึ้น”

นอกจากนี้บริษัทยังเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเนื่องจากรัฐมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมอากาศยานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งปัจจุบันบริษัทป้อนให้กับสายการบิน 2 แห่งในส่วนของอุปกรณ์ด้าน entertainment เช่น เราเตอร์ WiFi, จอโทรทัศน์แบบสัมผัสอยู่แล้ว แต่จะใช้โอกาสนี้เพิ่มการผลิตอีก และภายในปีนี้มีแผนควบรวมกิจการ (M&A) 1-2 ดีล ในกลุ่มบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

นายกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ (business director) หรือ DELTA กล่าวว่า ปัจจุบันโมเดลธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าซึ่งสัดส่วน 25% เช่น ปุ่มควบคุมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบในงานฐานข้อมูล (data) 2.พาวเวอร์/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สัดส่วน 50% เช่น switching power supply กล่อง CPU ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ 3.การบริหารจัดการด้าน smart green lite สัดส่วน 25% เช่น ไฟ LED แผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

สำหรับแผนการลงทุนปีนี้ บริษัทมีนโยบายเน้นเรื่องของโมเดลธุรกิจด้าน smart green lite มากขึ้น จึงเตรียมลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มอีก 2 เมกะวัตต์

จากเดิมมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่โรงงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการแล้ว 2 เมกะวัตต์ และจะติดตั้งเพิ่มใน ก.ค.นี้อีก1 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 5 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนนำมาใช้ภายในโรงงาน 7% เท่านั้น จึงไม่ขายเข้าระบบ ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 3/2561 เตรียมลงทุนในส่วนของตัวกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (energy stor-age) เพิ่มเติม

“การลงทุนด้านนี้จะส่งผลให้บริษัทเป็นต้นแบบโรงงานด้านการใช้พลังงานที่เป็น energy 4.0 ประกอบไปด้วย EV charger, sola, energy storage, smart city และเป็นศูนย์ศึกษาให้กับกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยทั้งหมดใช้งบฯลงทุนประมาณ 175 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 35 ล้านบาท/1 เมกะวัตต์”

นายประพนธ์ ธัมสัตยา วิศวกรภาคสนามอาวุโส DELTA เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเป็นผู้ผลิตสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV charger) ในอีกไม่นาน เนื่องจากแนวโน้มการใช้รถ EV ในไทยต้องเกิดขึ้นแน่นอน แม้จะต้องใช้เวลาอีก 3-4 ปีก็ตาม แต่แผนดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องนำไปสู่การรองรับตลาดทันที ล่าสุดอยู่ระหว่างหารือกับผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทยทั้ง 2 รายแล้ว มีเป้าหมายติดตั้งในสถานีน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศ

สำหรับ EV charger ขนาดเล็กจะใช้เวลา 4-5 ชม./การชาร์จ 1 ครั้ง รถสามารถวิ่งได้ 80-100 กม. ราคาประมาณ 90,000 บาท สามารถติดตั้งในบ้านขนาดใหญ่ที่มีประมาณไฟเพียงพอ

ส่วน EV charger ขนาดใหญ่หรือ quick charger จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที/การชาร์จ 1 ครั้ง ราคาประมาณ 100,000 บาท นอกจากนี้บริษัทติดตั้ง EV quick charger ให้กับ กฟผ. 10 เครื่อง ซึ่งยังคงนำเข้าจากประเทศไต้หวัน

“เราพร้อมที่จะเป็นผู้ผลิต EV charger อยู่แล้ว รอเพียงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ผลิต การสร้างดีมานด์ในประเทศ และการออกกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างยกร่างประกาศเตรียมใช้ในอนาคต เมื่อทุกอย่างพร้อมเราสามารถเป็นผู้ผลิตได้เลย นอกจากนี้เรายังเริ่มผลิตชิ้นส่วนรถ EV ให้กับผู้ผลิตรถแล้ว เบนซ์เทสล่า จีเอ็ม และพอร์ช”

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า DELTA คือหนึ่งบริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในไทย เตรียมเข้าร่วมงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 (ASE2018) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6-9 มิ.ย. 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จะมีผู้เข้าร่วมจากอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ถึง45 ประเทศ 1,500 แบรนด์จากทั่วโลก