“เยี่ยม” คุม กยท. ดึงราคายาง สร้างตลาด-เพิ่มอำนาจต่อรอง

ดูเหมือน “ราคายาง” จะไม่ตอบรับมาตรการต่าง ๆ กว่า 9 โครงการที่ภาครัฐออกมาสนับสนุนสินเชื่อทั้งให้กับเกษตร และผู้ประกอบการในการดูดซัพพลายส่วนเกิน และเพิ่มกำลังการผลิต ตลอดจนการงัดแผนตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทยที่ลงขันระหว่าง กยท. ในยุคนายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับกลุ่ม 5 เสือส่งออกยางรายใหญ่ที่ลงขันรายละ 200 ล้านบาท รวมทุนจดทะเบียน 1,200 ล้านบาท เมื่อกลางปี 2560 เพื่อเข้าไปซื้อยางในตลาดกลางซื้อขายยางของ กยท. 6 แห่งทั่วประเทศในราคานำตลาดไม่ต่ำกว่า 2 บาท/กก. ก็ “ไม่ประสบความสำเร็จ”

เพราะขายยางที่ซื้อมาในราคาแพงกว่าคู่แข่ง อีกทั้งพื้นที่ใช้จัดเก็บยางที่ซื้อมา ยังกลายเป็นปัญหาทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายตลาดกลางไม่มีพื้นที่จนต้องปิดตลาดกลางนานเป็นสัปดาห์ เพื่อเคลียร์พื้นที่ เป็นจังหวะที่ผู้ซื้อฉวยโอกาสดังกล่าวทุบราคาซื้อขายลงมาถึง กก.ละ 6 บาท กลายเป็นชนวนเหตุให้ชาวสวนยางไม่พอใจร่วมกันขับไล่นายธีธัชออกจากตำแหน่ง

ปัญหายางที่สะสมหลายเรื่องเป็นแรงผลักให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายนายธีธัช และปรับให้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ที่ทีมงานเศรษฐกิจในทำเนียบรัฐบาลส่งมารักษาการผู้ว่าการ กยท. พร้อมกับเสียงขู่ว่า “ถ้าราคายางไม่ดีขึ้น แต่ในที่สุด ดร.ธนวรรธน์ก็ถอดใจลาออกหลังทำงานเพียง 14 วัน”

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคุมสถานการณ์ยางได้ไม่เต็มที่ เพราะยังมีบอร์ดที่รัฐมนตรีเกษตรฯ คนเก่าอยู่ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนกรรมการฝ่ายราชการใหม่ในบอร์ดกว่า 5 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงเกษตรฯ ประธานบอร์ด กยท.คือ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข จึงเปิดทางให้นายกฤษฎามาหารักษาการผู้ว่าการ กยท.คนใหม่โดยตรง

ชื่อของ “เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์” โผล่เข้ามาแทน ดร.ธนวรรธน์ทันทีที่ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะเคยทำงานสถาบันวิจัยยางและเป็นผู้จัดการบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRGO) มาก่อน อีกทั้งสนิทสนมกับทีมงานกรมวิชาการเกษตรของนายกฤษฎาเป็นอย่างดี คาดกันว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้ราบรื่น

เพียงสัปดาห์เดียว “เยี่ยม” แถลงแผนแก้ปัญหาราคายางตกต่ำรับกับฤดูเปิดกรีดใหม่ทันทีว่า จะประชุมร่วมกับผู้บริหารสหกรณ์ชาวสวนยางทั่วประเทศที่มีสมาชิกถึง 2 ล้านคนต้นเดือน พ.ค.นี้ เพื่อหาปริมาณการผลิตยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ยางคอมพาวนด์ (ยางผสมสารเคมี) ยางแท่ง ฯลฯ ของแต่ละสหกรณ์ที่จะเข้าร่วมตั้งเป็นนิติบุคคลร่วมกับ กยท.เป็นบริษัทร่วมค้าฯ หรือตั้งเป็นกองทุน เพื่อรวบรวมยางจากสถาบันเกษตรกร และนำไปเจรจาขายให้กับโรงงานผลิตยางรถยนต์-ถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย รวมถึงผู้นำเข้ายางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหกรณ์ยางส่วนใหญ่ในไทยจะเน้นการผลิตยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้นค่อนข้างมาก ในขณะที่ยาง 2 ประเภทนี้มีประเทศไทยผลิตอยู่เพียงประเทศเดียว เพราะการใช้ยางทั่วโลกจะมาจากความต้องการนำไปผลิตยางรถยนต์ถึง 70% ขณะที่บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลก 10 อันดับแรกก็ตั้งโรงงานผลิตในไทยอยู่แล้ว

ส่วนการขายให้กับผู้นำเข้าต่างประเทศ ทาง กยท.จะร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมจับมือกับนำผู้นำเข้ายางจากทุกมุมโลกมาเจรจาซื้อขายกันในไทยอีกครั้งหนึ่งในเร็ว ๆ นี้ พร้อมกับจะเชิญผู้นำเข้าจากยุโรปและสหรัฐ ฯลฯ เดินทางไปชมการผลิตยางแปรรูปของสหกรณ์สวนยางหลายแห่งในภาคใต้ในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรฐานการผลิตของสถาบันเกษตรกรยางไทย อีกทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงลดการพึ่งพาตลาดจีนอย่างในปัจจุบัน” ก็แล้วแต่จะมองว่าเป็นเสือตัวที่ 6 เพิ่มจาก 5 เสือส่งออกยางกันหรือไม่” เยี่ยมกล่าว

ที่แน่ ๆ แนวคิดการรวมตัวขาย ช่วยให้อำนาจการต่อรองราคาและเงื่อนไขที่ดีย่อมมีมากขึ้น การมีออร์เดอร์รอไว้ก่อนแล้วค่อยสต๊อกสร้างศักยภาพให้ประเทศผู้ผลิตว่ามีตลาดซื้อขายส่งมอบจริงที่มีปริมาณยางค่อนข้างมาก เพื่อคานอำนาจกับตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ที่จีน ญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์ ที่มักจะซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการผลิตยางในหลายประเทศผู้ผลิต

อีกทั้งการที่ กยท.จะหารือกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอเป็นกรรมการร่วมในการตรวจสต๊อกยางผู้ส่งออกตามพ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 ในเร็ว ๆ นี้ หากได้รับไฟเขียว ย่อมทำให้เสือตัวที่ 6 มีข้อมูลในการวางแผนการค้าได้มากขึ้น เข้าทำนองรู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะเกินครึ่งก็ยังดี