จับตารัฐเร่งประมูลเมกะโปรเจ็กต์ ชิงลอตใหม่ 3ล้านล.

จับตารัฐบาลเร่งประมูลเมกะโปรเจ็กต์ลอตใหม่ ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง เม็ดเงินสะพัดกว่า 3 ล้านล้านบาท ยักษ์ใหญ่ขาขวิดคึกคักทุกวงการ ทั้งประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ “เอราวัณ-บงกช” มูลค่า 2.06 ล้านล้าน กสทช.เดินหน้าประมูลคลื่น 1800 MHz มูลค่ารวม 1.12 แสนล้านบาท พร้อมขบวนเมกะโปรเจ็กต์อีอีซีทั้ง “ไฮสปีด-ท่าเรือ-สนามบิน” ร่วม 5.81 แสนล้าน ทีดีอาร์ไอเชียร์ เร่งลงทุนโครงการจำเป็น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าขณะที่สถานการณ์การเมืองกำลังฝุ่นตลบมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมพร้อมสู่สนามเลือกตั้งในปีหน้า อีกด้านรัฐบาลก็เร่งเปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ เปิดประมูลคลื่นมือถือ1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่สัมปทานเก่าจะหมดอายุ และเมกะโปรเจ็กต์อีอีซีครอบคลุมทั้งรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 รวมมูลค่าเมกะโปรเจ็กต์ทั้ง 3 ส่วนนี้ มีมูลค่าเกือบ3 ล้านล้านบาท ที่จะทยอยเปิดประมูลปีนี้ ไม่รวมรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ที่จะประมูลครึ่งปีหลัง

ชิงขุมทรัพย์ 2.06 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานประกาศเชิญชวนผู้สนใจประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 (แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช) ที่จะทยอยหมดอายุสัญญาสัมปทานปี 2565-2566 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยผู้รับสัมปทานเดิม ได้แก่ บจ.เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)

รายงานข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่า เกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอให้น้ำหนักไปที่การเสนอราคาก๊าซต้องไม่สูงกว่าราคาก๊าซเฉลี่ยที่ผลิตได้จากอ่าวไทยปัจจุบัน รวมถึงต้องรักษาระดับการผลิตของทั้ง 2 แหล่งไว้ที่ 1,500 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 800 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน แหล่งบงกช 700 ล้าน ลบ.ฟุต/วัน รวมถึงต้องมีแรงงานไทยร้อยละ 80 ในช่วงปีแรก และเพิ่มเป็นร้อยละ 90 ในปีที่ 5 ของการดำเนินการ

สำหรับปริมาณทรัพยากร (ก๊าซธรรมชาติ/น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติเหลว) ที่คาดว่าจะผลิตได้มากที่สุดหลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ แปลง G1/61 จะมีก๊าซรวม 2,900 พันล้าน ลบ.ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว 82.4 ล้านบาร์เรล น้ำมันดิบ 51.1 ล้านบาร์เรล แหล่งบงกช G2/61 มีก๊าซธรรมชาติ 2,500 พันล้าน ลบ.ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว 51.4 ล้านบาร์เรล เมื่อประเมินจากปริมาณดังกล่าวคาดว่าแหล่งเอราวัณจะมีรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท และแหล่งบงกช รายได้ 860,000 ล้านบาท

ถึงขณะนี้มีผู้ที่สนใจรับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด 2.บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด 3.บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd. 4.บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด และ 5.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ยื่นซองเทคนิค-รายได้ 25 ก.ย.

โดยเงื่อนไขประมูลจะเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กำหนดขั้นตอนดังนี้ 1) ออกประกาศเชิญชวนและพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น และให้ผู้สนใจยื่นแบบฟอร์ม 4 พ.ค. 2561 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติ 15-16 พ.ค.นี้ จากนั้นจะแจ้งผลพิจารณาคุณสมบัติ 28 พ.ค.

2) ผู้เข้าร่วมประมูลที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น ยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงการเข้าถึงข้อมูล วันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. 2561 และเปิดให้เข้าศึกษาข้อมูลได้ 7 มิ.ย.-21 ก.ย. 2561

3) ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบฯลงทุน วันที่ 25 ก.ย. 2561 4) การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะประมูลและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา

เคาะประมูลคลื่นแสนล้าน

สำหรับการจัดประมูลคลื่นมือถือ 1800 MHz ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดขึ้นวันที่ 4 ส.ค. 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าเป็นภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากสัมปทานดีแทคจะสิ้นสุด15 ก.ย.นี้ โดยนำคลื่นย่าน 1800 MHz จำนวน 45 MHz แบ่ง 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz  ราคาเริ่มต้นการประมูล 37,457 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต และใช้กฎ N-1 (ไลเซนส์ที่นำออกประมูลน้อยกว่าผู้เข้าประมูล 1 จำนวน) จะนำออกประมูลครบทั้ง 3 ใบอนุญาตเมื่อมีผู้ยื่นขอเข้าประมูล 4 ราย ใบอนุญาตอายุ 15 ปี

ลดราคาไม่ได้เสี่ยงถูกฟ้อง

การประมูลครั้งนี้แม้มีผู้ทวงติงเรื่องราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงเกินไป แต่ กสทช.ไม่สามารถปรับลดลงได้ เนื่องจากมติบอร์ดก่อนนี้ยืนยันว่าจะใช้ราคาสิ้นสุดการประมูลคลื่น 1800 MHz เมื่อ 2 ปีก่อนเป็นราคาเริ่มต้นประมูลอาจทำให้ “เอไอเอส-ทรู” ผู้ชนะครั้งก่อนหยุดจ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือได้

ส่วนการประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลมากน้อยแค่ไหน เชื่อว่าคลื่น 1800 MHz ยังเป็นที่สนใจ แม้ดีแทคจะเพิ่งทำสัญญาเป็นพันธมิตรใช้คลื่น 2300 MHz ร่วมกับทีโอที แต่เป็นคลื่นที่มีข้อจำกัดในการใช้งาน ส่วน 2 ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการลงทุนจำนวนมากไปแล้วก่อนหน้านี้ หากไม่ผ่อนผันการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz จาก คสช. ก็ไม่แน่ว่าจะเข้าประมูลหรือไม่

พ.ค.ประมูลเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งผลักดันประมูลโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการสำคัญในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เนื้อที่ 6,500 ไร่ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท จะเปิดให้เอกชนลงทุน PPP รับสัมปทาน 30-50 ปี มีกำหนดประกาศทีโออาร์ ก.ค. และได้ผู้ชนะเดือน พ.ย. 2561

โดยเอกชนจะลงทุนก่อสร้างพร้อมให้บริการและบำรุงรักษา 6 กิจกรรม ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และสถานีรถไฟความเร็วสูง 2.ศูนย์ธุรกิจการค้า 3.เขตปลอดอากร 4.ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ระยะที่ 2 5.ศูนย์ซ่อมเครื่องบินระยะที่ 2 และ 6.ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศระยะที่ 2 นอกจากนี้ มีท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 วงเงิน 11,000 ล้านบาท กำหนดจะขายทีโออาร์เดือน มิ.ย.นี้

ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง220 กม. นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปลายเดือน พ.ค.นี้จะประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost 50 ปี ปลายต.ค.เปิดยื่นซอง จะให้ได้เอกชนผู้ชนะก่อนสิ้นปีนี้

โครงการมีมูลค่าอยู่ที่ 224,544 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืน 3,570 ล้านบาท งานโยธาและงานวางราง 113,303 ล้านบาท งานอุโมงค์ใช้ร่วมกับสายสีแดง 7,210 ล้านบาท ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 24,712 ล้านบาท ขบวนรถ 15,491 ล้านบาท ที่ปรึกษาคุมงาน 4,429 ล้านบาท เงินลงทุนพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสันและศรีราชา 45,155 ล้านบาท ค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะเวนคืนที่ดิน ส่วนที่เหลือเอกชนเป็นผู้ลงทุนและรัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนให้เอกชนไม่เกินมูลค่างานโยธา 113,303 ล้านบาท

ก.ค.ขาย TOR ท่าเรือแหลมฉบัง

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า คาดว่า ก.ค.-ส.ค.จะขายทีโออาร์ก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 แยก 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้ดำเนินการและเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรับสัมปทานบริหารโครงการระยะยาว จัดทดสอบความสนใจของเอกชน 2 พ.ค. 2561

“เดิมที่กำหนดทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท แยกเป็น ค่างานโครงสร้างพื้นฐาน 35,099 ล้านบาท”

มิ.ย.กดปุ่มรถไฟฟ้า 2 สาย 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า กลางปีนี้จะประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 101,112 ล้านบาท มี 6 สัญญา กับสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 90,271 ล้านบาทและเร่งประมูล PPP เดินรถไฟฟ้า 2 สายทาง ได้แก่ สายสีส้มตลอดสาย จากบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 34.6 กม. วงเงิน 35,000-40,000 ล้านบาท กับสายสีม่วงใต้ วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท จะเสนอให้คณะกรรมการ PPP ในเดือน มิ.ย. และเปิดประมูลไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.)

ครึ่งปีหลังลงทุนรัฐพระเอก

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา แนวโน้มการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใกล้เคียงไตรมาส 4/2560 ที่ขยายตัวราว 4% จากการลงทุนเอกชน ส่งออก และท่องเที่ยวที่เป็นจักรกลหลัก และเชื่อว่าไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะเห็นเศรษฐกิจขยายตัวทั้งจากการเร่งลงทุนของภาครัฐรวมถึงผลักดันให้เกิดการลงทุนใน EEC ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น

“เศรษฐกิจที่ผ่านมาได้รับการขับเคลื่อนจากการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่ในไตรมาส 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะครึ่งปีหลังคาดว่าจะเริ่มเห็นการเบิกจ่ายและลงทุนภาครัฐ ที่เข้ามาเป็นตัวบวกให้กับเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น”

TDRI ชี้โครงสร้างพื้นฐานจำเป็น

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งโครงข่ายมือถือ ระบบขนส่งทางราง รถไฟความเร็วสูง แม้จะขาดทุนในเชิงการเงิน แต่ในเชิงเศรษฐกิจซัพพอร์ตอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจภาพรวมได้ ทั้งมีจังหวะเวลาที่ผูกไว้ อย่างคลื่น 1800 MHz ที่นำมาประมูลก็จะหมดสัมปทาน ก.ย.นี้ หรือการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่เป็นจังหวะที่โครงการ EEC และการลงทุนสนามบินกำลังจะเกิด จึงไม่มีคำถามเรื่องจังหวะเวลาต้องลงทุนในรัฐบาลนี้

“อย่างการสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ถ้ามีรถไฟแต่ไม่มีสนามบิน รถไฟก็จะขาดทุน ถ้ามีสนามบินไม่มีรถไฟ คนก็ไม่ใช้บริการ ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา กว่าจะผลักดัน กว่าจะดึงนักลงทุนมาได้ ซึ่งก็ไม่ควรช้าไปกว่านี้ เพราะถ้าไม่ทันรัฐบาลนี้ ก็จะทำให้โครงการมีความไม่แน่นอนสูงมาก ฉะนั้นอย่างไรก็ต้องทำในรัฐบาลนี้”

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเงื่อนไขต้องกำหนดอย่างเป็นกลาง โปร่งใส ไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการบางราย การแข่งขันเสรีเป็นธรรมเป็นสิ่งจำเป็น การประมูลเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่การเอาเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือการเอาเงื่อนไขประมูลครั้งนี้ไปผูกกับการประมูลครั้งต่อไป อันนี้คือสิ่งที่มีปัญหาและไม่มีที่ไหนทำกัน เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน

“เช่น กรณีการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ที่มีการผูกเงื่อนไขราคากับการประมูลครั้งก่อนโดยไม่ได้แจ้งให้สาธารณะทราบก่อนที่จะเริ่มมีการประมูลเมื่อ 2 ปี ทำให้เกิดการกำหนดราคาที่ไม่เป็นกลางในการแข่งขัน แต่ กสทช.จะแก้ไขก็เสี่ยงกับการถูกฟ้องร้อง”

ไม่เปิดช่องใช้ดุลพินิจ

“การประมูลสัมปทานน้ำมันรอบก่อนนี้ มีกรณีที่ผู้เสนอราคาดีที่สุดไม่ได้เพราะมีการพิจารณาเงื่อนไข CSR ซึ่งเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ ปัญหาคือก่อนหน้านี้เคยมีคนระดับสูงในรัฐบาลพูดว่าจะยกรถไฟสายไหนให้กลุ่มไหน ทำให้เหมือนว่ารัฐบาลมีใครในใจ มีคำถามว่าจะเกิดการแข่งขันกันจริงขนาดไหน”

ที่สำคัญคือผู้ที่เข้าร่วมประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ล้วนเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีอิทธิพลทางการเมืองในทุกรัฐบาล จึงควรกำหนดเงื่อนไขที่ตรวจสอบได้ง่าย ใช้ดุลพินิจให้น้อย และไม่มีการเปลี่ยนกติกาในภายหลัง

“ผมไม่คิดว่ารัฐบาลไหนโปร่งใสกว่ารัฐบาลไหน ถึงที่สุดประเทศไทย ถ้าศึกษาไปดี ๆ รัฏฐาธิปัตย์ตัวจริง คือ กลุ่มทุนไม่ใช่รัฐบาล”

ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้น อาจไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมมากนัก ต้องใช้เวลา เว้นแต่โครงการโทรคมนาคมที่อาจเห็นได้เร็วแต่จะเอื้ออำนวยระบบเศรษฐกิจเมื่อได้มีการศึกษาแล้วว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนก็ต้องทำ