รัฐโบ้ย “โกดังข้าว” ผิดเกรด โยนภาระจ่ายชดเชยอ่วม

“คลังกลาง” รับสภาพจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างราคาข้าวผิดเกรดหลังรัฐบาลเมินไม่ตรวจสต๊อกข้าวซ้ำ แถมเร่งให้ผู้ชนะประมูลเดินหน้าขนข้าวออก เจ้าของคลังลั่น ขอต่อสู้คดีทางกฎหมาย “ทำความจริงให้สังคมรับรู้” TDRI ชี้ หากขายแยก “ข้าวดี-ข้าวเสื่อม” ต้องใช้เวลา 12 ปี รัฐแบกต้นทุนค่าเก็บรักษาอ่วม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อต้นสัปดาห์นี้ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) ประชุมร่วมกับ “เจ้าของคลัง” รับฝากเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2554-2557 โดยมีเจ้าของคลังเข้าร่วมทั้งหมด 159 คลัง จากทั้งหมด 700 คลัง แบ่งเป็น เจ้าของคลังพื้นที่ 1 ภาคเหนือ จำนวน 35 ราย, พื้นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 70 ราย, พื้นที่ 3 ภาคกลาง จำนวน 34 ราย และพื้นที่ 4 ภาคใต้ จำนวน 20 ราย เพื่อแก้ไขปัญหาค้างค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของคลังสินค้าที่รับฝากเก็บข้าวโครงการรับจำนำ

โดยการประชุมกับเจ้าของคลังครั้งนี้ อคส.ต้องการตรวจสอบ “ตัวเลขค่าเช่าคลังที่ อคส.ค้างชำระ” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในการชำระหนี้จะได้ถูกต้องรวดเร็ว แต่มีข้อสังเกตว่า เจ้าของคลังกลาง 8 คลัง ซึ่งร้องเรียนเรื่องการจัดเกรดข้าวของรัฐบาลไม่ตรงกับความเป็นจริง และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบคุณภาพข้าวซ้ำอีกครั้ง ได้แก่ คลังวรโชติ, คลังถาวรโชคชัย, คลังแสงไพฑูรย์ (2002), คลังธาราเจริญ (1993), คลังเจริญประภา, คลังกิจเจริญทรัพย์, คลังทรัพย์เอก และคลังเปรมศิริ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับ อคส.ด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากองค์การคลังสินค้าเปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ อคส.มีเป้าหมายจะตรวจสอบตัวเลขเงินค้างชำระกับคลังกลาง กลุ่มที่ไม่ติดคดีก่อน ส่วนคลังที่ติดคดีต้องระงับค่าใช้จ่ายที่ค้างทั้งหมด ประกอบด้วย 1) ค่าเก็บฝาก 2) หลักทรัพย์วางค้ำประกัน (L/G) 3) ค่าตรวจสอบคุณภาพ และ 4) ค่าเรียงกอง ยกเว้นค่ารมยา โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อคส.จะต้องสรุปเสนอกระทรวงการคลัง ขออนุมัติงบประมาณก่อน เพราะมีผลต่อการรักษาคุณภาพข้าว จากปกติที่จะต้องจ่ายให้เจ้าของคลัง 3 เดือน อัตรา 50,000 บาทต่อคลัง

“เจ้าของคลังที่เข้าประชุมทั้งหมดเข้าใจตรงกันว่า ตัวเองไม่สามารถอ้างสิทธิว่า อคส.ติดหนี้คลังแล้วจะยึดหน่วงเหนี่ยวข้าวสารที่เป็นทรัพย์ของรัฐไป โดยไม่ให้ผู้ชนะประมูลในคลังนั้นรับมอบข้าวออกไปได้ เพราะหากเจ้าของคลังทำเช่นนั้นจะผิดสัญญากับ อคส.และถูกริบ L/G หากจะเรียกร้องความเสียหาย เจ้าของคลังต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย” แหล่งข่าวกล่าว

เร่งรับข้าวจากคลังที่ร้องเรียน

ด้าน น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) จังหวัดอ่างทอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อขอให้ระงับการขนย้ายข้าวในคลังของผู้ชนะประมูล และขอให้รัฐบาลตรวจสอบข้าวสารในคลังซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากข้าวในคลังไม่ตรงกับเกรดข้าวที่คณะทำงานของรัฐบาลตรวจสอบ มีผลทำให้เจ้าของคลังต้องจ่ายเงิน “ชดเชย” ส่วนต่างราคาข้าวสาร หรือผลตรวจสอบข้าวดีกลับกลายเป็นข้าวเสีย

โดย น.ส.อิศราภรณ์กล่าวว่า การขอให้ระงับการขนย้ายข้าวในคลัง และขอให้มีการตรวจสอบเกรดข้าวใหม่นั้น “ไม่เป็นผล” โดยในวันนี้ (1 ส.ค.) ผู้ชนะการประมูลข้าวในคลังวรโชติ (หลัง 2) ได้มารับมอบข้าวออกจากคลังไปอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ทางคลังวรโชติจะเตรียมข้อมูลเพื่อดำเนินการต่อสู้ทางคดี โดยเชื่อว่า “อย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้รับรู้ความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้น”

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า การยื่นขอให้มีการตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลใหม่นั้น “เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และมีผลกระทบหลายด้าน” เช่น กระบวนการตรวจสอบจะทำอย่างไร จะสุ่มตรวจหรือรื้อกองข้าว เพราะรัฐบาลขายไปเกือบหมดแล้ว และหากมีการตรวจสอบ ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเหล่านั้น

อย่างไรก็ตามเห็นว่า ในช่วงแรกรัฐบาลได้พยายามที่จะดำเนินการตรวจสอบและคัดแยกกองข้าวในคลังเพื่อขายแล้ว ด้วยการทดลองทำไป 2 คลัง แต่ต้องยุติวิธีการดังกล่าวเพราะมีข้อจำกัดจากปริมาณสต๊อกข้าวจำนวนมหาศาล หากจะมีการคัดแยกกอง รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายต่อกระสอบสูงมาก ประกอบกับภายในคลังไม่มีพื้นที่สำหรับแบ่งแยกข้าว และหากใช้เวลาแยกก็ยิ่งทำให้ต้องเก็บข้าวนานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าว โดยตอนนั้นมีการคำนวณว่า หากขายแบบแบ่งแยกกอง รัฐบาลจะต้องใช้เวลานานถึง 12 ปีจึงจะหมด

“ตรงนี้ทำให้ต่อมารัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนวิธี ทำให้ระบายข้าวได้เร็วขึ้น คาดว่ารัฐบาลจะมียอดขาดทุนเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงการคลังปิดบัญชี เมื่อเดือนกันยายน 2559 ที่มูลค่า 607,000 ล้านบาท แต่หากระบายล่าช้าก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งของคลังกลางเกี่ยวกับการจัดเกรดข้าวในขณะนี้ ผมมองว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ควรดำเนินการหาทางออกที่เป็นทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้น ในช่วงนี้ก็จะต้องถูกโยงเป็นประเด็นทางการเมืองแน่นอน” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว

ใครอยากกินข้าวเกรด C

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวชี้แจงการจัดเกรดข้าวในคลังที่มีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นในขณะนี้ว่า การดำเนินการระบายข้าวเป็นไปตามมติ นบข. “เราไม่สามารถตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลซ้ำใหม่ได้” เพราะรัฐบาลดำเนินการระบายข้าวไปแล้ว 16 ล้านตัน จากสต๊อกที่รับมา 18 ล้านตัน ซึ่งบรรจุในคลัง 1,733 คลังทั่วประเทศ ยืนยันว่าที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม มีมาตรฐานเดียวกัน มีคณะกรรมการ 3 ชุดในการตรวจสอบปริมาณและมาตรฐานก่อนกำหนดแนวทางการระบายเป็นรายกอง ในช่วงแรกแต่มีข้อจำกัดมาก เพราะมีค่าใช้จ่ายย้ายกอง เฉลี่ยกระสอบละ 12 บาท และการขายแต่ละครั้งต้องดูผังกองในคลังว่าขนย้ายอย่างไร ต้องดูทุกมิติ จึงได้ปรับวิธีระบายแบบยกคลัง และกำหนดให้กลุ่มข้าวเกรด C 20% ของข้าวทั้งหมดในคลังนั้น ให้ถือว่าเป็นข้าวสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน อาหารสัตว์) แม้ว่าจะมีข้าวอีก 80% เป็นข้าวดีก็ตามเพราะหากนำมาขายเป็นข้าวเพื่อการบริโภคของคน อยากถามว่า “คนไทยกินมั้ยข้าวแบบนี้” ผู้ซื้อต่างประเทศจะกังวลไหม ซึ่งคิดว่า “คนไทยคงไม่กิน”

“การทำงานของรัฐเป็นงานมหึมา ขายข้าวในโครงการรับจำนำจะจบอยู่แล้ว เราใช้บรรทัดฐานเดียว ผู้ประกอบการ (เจ้าของคลัง)ที่คัดค้านสามารถไปต่อสู้ในทางคดีได้ แต่การขายก็ต้องขาย เพราะถ้าไม่ขายรัฐจะมีค่าเช่าคลังถึง 180 ล้านบาทต่อเดือนซึ่งลดลงจากช่วงแรก 18 ล้านตัน ที่มีค่าเช่าเดือนละ 1,500 ล้านบาท นบข.วางกรอบไว้ให้ระบายหมดภายใน 3 ปี” นางดวงพรกล่าว


พร้อมทั้ง ให้ อคส. และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กำกับดูแลการขนย้ายข้าวของผู้ชนะประมูลเพื่อผลิตในอาหารสัตว์ไปใช้ผิดประเภท (ไปขายเป็นข้าวถุงเพื่อการบริโภค) ก็มีโทษทั้งริบหลักประกัน ดำเนินการตามกฎหมาย