ยักษ์จีนชิงทุเรียน ส่งออกพุ่ง100% เกษตรกรแห่ปลูก

แฟ้มภาพ

ทุนจีนเปิดศึกชิงทุเรียนไทย “อาลีบาบา-เจดี” แห่ซื้อแข่งผู้ส่งออก ดันราคาพุ่ง-ยอดส่งออกไตรมาสแรกโตเท่าตัวกว่า 7 พันตัน เผยทุเรียนพันธุ์ท้องถิ่นได้อานิสงส์ ก.เกษตรฯเล็งชง ครม.ของบฯ 4,500 ล้านบาทอัดสินเชื่อทุเรียน 3 ปี หลังเกษตรกรแห่ปลูก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากยักษ์อีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” ของประเทศจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับภาครัฐบาลไทย และนำร่องโครงการจัดซื้อสินค้าเกษตร ได้แก่ ทุเรียน และข้าว ไม่ถึง 2 สัปดาห์ จากนั้นบริษัท Beijing Jingdong Century Trade ในเครือ “เจดีดอทคอม” ยักษ์อีคอมเมิร์ซจากจีนอีกรายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ผู้ผลิตทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ในกลุ่มบริษัทเอส เค ห้องเย็น ผู้ส่งออกทุเรียนสดรายใหญ่

เจดี-อาลีบาบาชิงตลาดทุเรียน

นางสาวกาญจนา แย้มพราย ประธานกรรมการ บริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด กล่าวว่า ไทยส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งไปยังตลาดจีนเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นผลไม้ที่คนจีนนิยมบริโภคมากที่สุด และมีแนวโน้มนำเข้าทุเรียนจากไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อน ส่วนทุเรียนแช่แข็งเริ่มได้รับความนิยมเมื่อปีก่อน ทำให้บริษัทตัดสินใจตั้งโรงงานทุเรียนแช่แข็งในปี 2560 โดยลงทุนกว่า 700 ล้านบาท และเริ่มส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปตลาดจีนตั้งแต่ปลายปี ผ่านความร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ของจีนหลายราย ทั้งนักธุรกิจนำเข้าผลไม้จากจีน และอาลีบาบา

ล่าสุดได้เซ็นสัญญากับ “เจดีเฟรช” บริษัทลูกเจดีดอทคอม ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีน อายุสัญญา 1 ปี ทำให้บริษัทมีช่องทางจำหน่ายทุเรียนครอบคลุมทุกช่องทาง แบ่งเป็นออนไลน์ 20% เช่น เจดีดอทคอม และอาลีบาบา เป็นต้น ออฟไลน์ 80% เช่น เทสโก้ โลตัส คาร์ฟูร์ และเซ็นจูรี่ เป็นต้น

ดันราคาทุเรียนพุ่ง

บริษัทส่งออกทุเรียนไปใน 6 มณฑลใหญ่ เช่น ปักกิ่ง ยูนนาน คุนหมิง เป็นต้น ตลาดจีนถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ส่งออก และเกษตรกรไทย ประกอบกับราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 290 บาท/กิโลกรัม เพิ่มจากปีก่อนที่ราคาเฉลี่ย 220-230 บาท/ต่อกิโลกรัมเท่านั้น

นางกาญจนากล่าวต่อว่า บริษัทมีทุเรียนเพียงพอต่อการส่งออก เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางจากหลายจังหวัดทั้งระยอง จันทบุรี อุตรดิตถ์ และภาคใต้ รวบรวมมาขายต่อให้ ซึ่งโรงงานทุเรียนแช่แข็งของบริษัทรองรับปริมาณทุเรียนได้สูงสุด 300-400 ตัน จากปัจจุบันมีผลผลิตเพียง 50% เนื่องจากต้องรอทุเรียนลอต 2 เพราะลอตแรกกำลังหมดลอต เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนแปรรูปทาร์ตไข่ทุเรียน จากปัจจุบันมีทุเรียนแปรรูป 8 รายการ ได้แก่ ทุเรียนอบกรอบ, ไอศกรีมทุเรียน เป็นต้น และปีนี้ตั้งเป้าว่าจะส่งออกทุเรียนแช่แข็งเพิ่มเป็น 400 ตู้คอนเทนเนอร์ จากปีที่แล้วเพียง 100 ตู้ (เฉพาะ ต.ค.-ธ.ค.60)

ดีมานด์ทะลักเท่าตัว

นายเย่ เว่ย ประธานกรรมการ บริษัท Beijing Jingdong Century Trade จำกัด กล่าวว่า บริษัทเซ็นสัญญากับควีน โฟรเซ่นฯ เพื่อนำทุเรียนเข้าไปขายผ่านเจดีดอทคอม โดยล็อตแรกนำเข้าทุเรียนจากไทย 100 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 2,500 ตัน และปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ทั้งมีแผนนำเข้าผลไม้อีกหลายชนิด เช่น มังคุด ลำไย มะพร้าวเผา เป็นต้น

“ทุเรียนไทยได้รับความนิยมมาก ทั้งเราและอาลีบาบา มีราคาและโปรโมชั่นไม่ต่างกันมากนัก แต่จุดแข็งของเราอยู่ที่สามารถจัดส่งทั่วประเทศจีนใน 3-4 ชั่วโมง เทียบกับคู่แข่งต้องใช้เวลานานกว่า ความต้องการทุเรียนในจีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องมาคุยกับซัพพลายเออร์ว่าจะสต๊อกและจัดการออร์เดอร์”

เปิดรายชื่อท็อปผู้ส่งออก

รายงานข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีน 7,231 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4,295 ตัน คิดเป็นมูลค่า 488.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากที่เคยทำได้ 256.9 ล้านบาท ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนแช่แข็งแม้มีปริมาณ 1,201 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันที่ส่งออกได้ 1,291 ตัน แต่มูลค่าส่งออกเท่ากับ 292.8 ล้านบาท จากปีก่อน 214.3 ล้านบาท และเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ส่งออกทุเรียนแช่แข็ง 10 อันดับแรก ปรากฏว่ามีบริษัทที่มีชาวจีนถือหุ้นอยู่มากถึง 5 ใน 10 ราย อาทิ บริษัท บีเอส เวิลด์ ฟู้ด, บริษัท เทียนชาน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, หจก.พิสุทธิ์ฟู้ด (จีนถือหุ้น 100%), บริษัท ไทย โน่ง เม่า ฟู้ด และบริษัท เทียนผม จำกัด ขณะที่

รายชื่อผู้ส่งออกทุเรียนสดไปจีน 10 อันดับแรก มีผู้ส่งออกที่มีชาวจีนถือหุ้นอยู่หลายราย เช่น ดี เอฟ เอช อินเตอร์เฟรช เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท วิน วิล เฟรชฟรุ๊ต จำกัด, บริษัท หยุนหนานสิบสองปันนา หงส์ชิง อินเตอร์เนชั่นแนลเทรด (ไทยแลนด์) จำกัด

ดันส่งออกผลไม้ไทยโต 30%

นายพจน์ เทียมตะวัน นายกสมาคมผู้ประกอบการพืช ผัก ผลไม้ไทย เปิดเผยว่าการลงนามระหว่างควีน โฟรเซ่น ฟรุต และเจดีดอทคอม ช่วยให้เกษตรกรไทยมีการจำหน่ายทุเรียนตกเกรด ได้ในราคาสูงขึ้น จากเดิมขายได้ลูกละ 10-20 บาท เพิ่มเป็น 60-80 บาท และส่งออกผลไม้ไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 30%

“ขณะที่ราคาทุเรียนที่จำหน่ายหน้าสวนอยู่ที่ กก.ละ 100-120 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ราคา กก.ละ 160-170 บาท เนื่องจากผลผลิตทุเรียนปีนี้เพิ่มขึ้น เกษตรกรผลิตได้ตลอดทั้งปีไม่มีฤดูกาล”

อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าแม้ในอนาคตเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียน เพราะมีราคาสูง แต่ไม่ทำให้ทุเรียนล้นตลาด แต่อีกด้านการทำการตลาดในช่องทางอีคอมเมิร์ซน่าจะมีส่วนช่วยสร้างการรับรู้ให้ทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่น เช่น ทุเรียนพวงมณี และหลงลับแล มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น

เล็งของบฯ ครม. 4.5 พันล้าน

ด้านนายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการสำรวจภาพรวมเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าในช่วง 3 ปี มีการปลูกเพิ่มขึ้นจากปี 2559 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ 5.91 แสนไร่ แต่ปี 2560 เพิ่มเป็น 6.05 แสนไร่ ส่วนมากเป็นพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับเกษตรกรเพิ่มพื้นที่ปลูก ทำให้อาจต้องไปส่งเสริมพื้นที่ให้เป็นโซนนิ่งที่เหมาะสม เพื่อความยั่งยืนและส่งเสริมการแปรรูป ไม่ใช่เพียงราคาสูงออร์เดอร์ระยะสั้นเท่านั้น และขณะนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซค่อนข้างมาแรง จึงอยากให้เกษตรกรมีรายได้จริง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง สอดคล้องร่างยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย ปี 2558-2564

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 4,500 ล้านบาท ระยะ 3 ปี โดยตั้งเป้ารวบรวมผลผลิตจากสมาชิกราว 40,000 ตัน จากสหกรณ์การเกษตรกร 92 แห่ง ใน 19 จังหวัด รองรับผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาด และกลาง พ.ค.นี้จะเปิดสวนผลไม้สมาชิกสหกรณ์จันทบุรี ระยอง ตราด ให้ตัวแทนอาลีบาบาเยี่ยมชมการผลิตผลไม้คุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจ