“นภินทร” ยัน “พาณิชย์” มีอำนาจพิจารณาใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่การใช้มาตรการต้องคำนึงผลกระทบให้รอบด้าน และต้องไม่ผิดกฎกติกาการค้าโลก ที่นำไปสู่การตอบโต้ทางการค้า แนะทั้งไทยและเพื่อนบ้าน ใช้วิธีลดเผา ใช้ประโยชน์จากซังข้าวโพดทำอาหารสัตว์ และพลังงานทดแทน ช่วยทั้งแก้ปัญหา PM 2.5 และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
วันที่ 5 เมษายน 2567 นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยการห้ามนำเข้าข้าวโพดที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านว่า เรื่องนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.พะเยา เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาว่าจะมีมาตรการออกมาดำเนินการได้หรือไม่
ซึ่งจากการพิจารณา พบว่า มีอำนาจตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ที่ให้อำนาจ รมว.พาณิชย์ โดยอนุมัติของ ครม. กำหนดให้สินค้าใดต้องห้ามนำเข้าได้ รวมถึงข้าวโพด แต่การพิจารณานำมาใช้ ต้องคำนึงถึงกฎ กติกา การค้าระหว่างประเทศ และผลกระทบรอบด้าน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การนำมาตรการมาใช้ ต้องใช้แบบเท่าเทียมกัน ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้าจากเพื่อนบ้าน หรือถ้าจะยกเว้นโดยใช้หลักปกป้องชีวิตหรือสุขภาพมนุษย์ พืช สัตว์ ที่ไม่ใช่เพื่อการกีดกันทางการค้า ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการเผาที่เกิดขึ้นมาจากภายนอกประเทศเท่านั้น แต่จากการสำรวจจุดความร้อน พบว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา จุดความร้อนมีทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและในไทย และยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจุดเผาในประเทศ ไม่ได้ก่อให้เกิด PM 2.5
ดังนั้น หากห้ามนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้านที่มีการเผา ก็จะถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า และอาจถูกฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ และหากแพ้ ก็ต้องชดเชยทางการค้า เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโต ซึ่งถูกสหรัฐฟ้องและแพ้คดี หรือกรณีที่ไทยถูกฟ้องกรณีห้ามนำเข้าบุหรี่ โดยระบุว่าสารเคมีในบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไทยได้ยกเลิกมาตรการก่อนที่จะมีการตัดสินก็เลยยังไม่ต้องชดเชยใด ๆ
นอกจากนี้ หากมีการนำมาตรการมาใช้ อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด และส่งออกไปจีนได้ เนื่องจากต้องอาศัยเพื่อนบ้านในการส่งผ่าน โดยในปี 2566 ไทยส่งออกไปจีนรวม 69,332 ตู้ เป็นการส่งสินค้าทางบกและทางราง 47,745 ตู้ คิดเป็น 68.86% ของการขนส่งทั้งหมด มีมูลค่า 6,225 ล้านเหรียญสหรัฐ
และอาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ เพราะไทยมีความต้องการใช้ข้าวโพดปีละ 8.37 ล้านตัน ผลิตได้ 4.98 ล้านตัน ต้องนำเข้าอีก 3.39 ล้านตัน ซึ่งหากนำเข้าไม่ได้ ก็ต้องใช้วัตถุดิบอื่น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และเกิดปัญหาต่อเนื่องกระทบไปยังค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เคยได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านไปแล้วช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน โดยชักชวนให้ลดการเผา และให้หาทางใช้ประโยชน์จากซังข้าวโพดผ่านนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผลิตเป็นอาหารโค หรือวัสดุในเชิงพลังงานชีวมวล โดยทางไทยพร้อมสนับสนุน และยังจะผลักดันเกษตรกรในประเทศไทยให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องเผา และปัญหาฝุ่น PM 2.5
“สิ่งที่ผมเสนอ คือ การแก้ปัญหาโดยการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ให้สิ่งเหลือใช้ที่เป็นต้นเหตุในการเผานั้นมีมูลค่า คุ้มค่าที่เกษตรกรไทย และเพื่อนบ้านจะลงแรง ลงเงินสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งนั้น แม้อาจต้องใช้เวลาสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างโมเดลในพื้นที่ให้เห็นผลสัมฤทธิ์ แต่ปลายทางจะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาที่เราเผชิญอยู่
สิ่งที่ผมอยากบอกกับสภาแห่งนี้ เรามีสิทธิและมีอำนาจที่จะใช้มาตรการบังคับตามที่ทุกท่านเสนอ แต่จากที่ผมได้กล่าวไป เราจะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในประเด็นข้อฟ้องร้องต่อ WTO หรือในอาเซียนอย่างไร เราจะรับมือมาตรการตอบโต้ทางการค้า มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้าอย่างไร เราจะรักษาบทบาทสำคัญในเวทีโลกในกรอบพันธสัญญาต่าง ๆ ได้อย่างไร และในกรอบพันธสัญญาของอาเซียนซึ่งเรามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เราจะมีจุดยืนอย่างไร และหากเราแก้ปัญหาที่ปลายทาง ไม่แก้ที่ต้นเหตุเราจะหยุด PM 2.5 อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” นายนภินทรกล่าว