“ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” ใช้เทคโนโลยีเชื่อมการ์เมนต์เข้าด้วยกัน

สัมภาษณ์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ครั้งที่ 45 โดยมีวาระ “เลือกตั้งคณะกรรมการสมาคม” ชุดใหม่ ประจำปี 2561-2563 และการเลือกนายกสมาคมคนใหม่ คือ “นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์” ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง แทน “นายถาวร กนกวลีวงศ์” ที่เพิ่งหมดวาระลง

โดยก่อนหน้านี้ นายยุทธนาได้รับการเลือกตั้งเป็น “ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม” สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นถึงผลกระทบจากการปรับค่าแรงงาน และการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ 

Q : ทิศทางการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ 

การส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปี 2561 ทิศทางสดใส ส่งออกเป็นบวก 3-5% ซึ่งมาจากหลายปัจจัย เช่น ตลาดโลกดีขึ้น มีผลต่อการนำเข้า การแข่งขันฟุตบอลโลก การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้ดี และฐานเดิมการส่งออกในปีที่ผ่านมาต่ำด้วย

Q : ตลาดส่งออกเป็นอย่างไร 

ตลาดส่งออกสำคัญของเราก็ยังเป็น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน ที่การส่งออกยังโต และขณะนี้จีนก็กำลังจะเป็นตลาดสำคัญของไทย เนื่องจากคนจีนรวยขึ้น หากดึงตลาดได้ 1%

ก็ส่งผลต่อการส่งออกได้มาก และดูจากตัวเลขการส่งออกโตอย่างต่อเนื่องมาได้ 2-3 ปีแล้วในสินค้าทุกประเภท แม้มูลค่าจะน้อยก็เชื่อว่าจะโตเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสินค้าในตลาดบน ประกอบกับคนจีนมาเที่ยวไทยมากก็มีผลดีต่อการส่งออกเสื้อผ้า และการซื้อเสื้อผ้าภายในประเทศด้วย

Q : ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม 

ปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับผู้ส่งออก คือ การเลือกตั้ง อัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีผลกระทบบ้างในการส่งออกเสื้อผ้า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งโดยพื้นฐานการปรับขึ้นค่าแรงนั้นมีผลกระทบอยู่แล้ว

Q : ขึ้นค่าแรงกระทบต้นทุนแค่ไหน

โดยสัดส่วนค่าแรงในการผลิตเสื้อผ้า 1 ตัว คิดเป็นต้นทุนตั้งแต่ 10-30% แล้วแต่ชนิด คุณภาพ ดีไซน์ของเสื้อผ้าแต่ละชิ้นแต่ละตัว สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งล่าสุดนี้เชื่อว่าจะมีผล

กระทบต่อต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่ 1-1.5% ไม่เกิน 2% แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นของค่าแรงจะส่งผลให้ราคาของเสื้อผ้ามีการปรับขึ้นราคาด้วย เพราะบางอย่างเราสามารถปรับต้นทุนการผลิตลงได้ เช่น ค่าพลังงานที่ไม่ปรับเปลี่ยนไปมาก อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีความผันผวนจนเกินไป ค่าวัตถุดิบไม่เปลี่ยน การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เมื่อหัก-ลบจากค่าแรงที่ปรับขึ้นก็อาจไม่ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Q : ราคาเครื่องนุ่งห่มปรับขึ้นหรือไม่

ราคาเครื่องนุ่งห่มในตอนนี้แม้จะมีการปรับลดลงบ้าง แต่ไม่ใช่ทุกหมวดของสินค้า บางหมวดสินค้าก็มีการปรับขึ้นเช่นกัน แต่ว่าการปรับขึ้นหรือลดลงนั้นมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องของการใช้วัตถุดิบราคาถูก ใช้แรงงานจำนวนมาก สินค้าระดับล่างก็อาจมีผลให้สินค้าถูกลง ปรับลดราคาลง และอีกปัจจัยต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมนี้เปิดให้มีการแข่งขันเสรี ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะนำเข้าสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และทิศทางก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีผลให้การแข่งขันก็มากขึ้น แต่สินค้าแบรนด์ สินค้าฟังก์ชั่น สินค้าที่มีดีไซน์ ราคาปรับขึ้นทั้งหมด และก็ขายดีได้รับความนิยม หากดูตลาดไทยให้ดีก็มีสินค้าทุกกลุ่มทุกระดับ

อย่างไรก็ดี ในประเด็นสำคัญในเรื่องค่าแรงที่ต้องมีการหารือนั้นมี 2 ประเด็น คือ ไม่ควรจะปรับกะทันหันซึ่งสำคัญมาก อย่างน้อย 1 ปีก่อนจะปรับขึ้นต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อเตรียมตัว การปรับค่าแรงต้องมีหลักการในการปรับที่ชัดเจน อย่าอิงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเกินไป เพราะเราจะจัดการบริหารได้ยากมากในเชิงธุรกิจ

Q : ทิศทางและการปรับตัวของอุตสาหกรรม

ภาพรวมในขณะนี้ ผู้ประกอบการยังไปได้ เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจยังคงเติบโต แต่ก็ต้องมีการพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ เพราะหากไม่ทำอะไรเลยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยังขายของเดิม ๆ

ก็จะเจอปัญหาได้ เพราะทิศทางการผลิต การขายเปลี่ยนไปมาก ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเสาะแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มบนโลกนี้ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการไทยทั้งด้านการผลิต การขาย การจัดการทั้งระบบเข้ามาปรับใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มให้มากที่สุด และให้เปิดโอกาสให้สมาชิกของเราได้มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่จะเดินหน้าต่อไปจากนี้ แต่ทั้งนี้ เราไม่ได้มองว่าจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อนำมาผลิตสินค้าให้ได้มากหรือเร็วขึ้น แต่หมายถึงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะต้องเชื่อมโยงกันผ่านเทคโนโลยีที่เรานำมาปรับใช้

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องรูปแบบของการตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่าอดีตไทยโตจากการผลิตสินค้าออกมาและไม่ค่อยได้ทำตลาดในเชิงรุกมากเท่าไร ดังนั้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มให้ได้ในอนาคต โดยการสร้างแบรนด์ การทำการตลาดในระดับโลกในรูปแบบเชิงรุกมากขึ้น เห็นได้จากเกาหลีใต้ยังสามารถทำได้ ผู้ผลิตไทยก็ต้องทำได้เช่นกัน โดยการปรับตัวสร้างสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและสร้างการรับรู้ให้กับตลาดและผู้บริโภคให้มาก เพราะสินค้าไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่แล้วด้านการผลิตและคุณภาพ

Q : หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกเพียงใด

การเข้าร่วม CPTPP ต้องดูจากหลายปัจจัย เช่น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ต้องดูนโยบายของรัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยกับการเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ ซึ่งชุดรัฐบาลปัจจุบันก็ต้องสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นว่า สิ่งที่ไทยสนใจนั้นมีอะไรบ้างที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพื่อที่จะอยู่ในกรอบว่าเราได้มีความสนใจในเรื่องนี้

อีกทั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบข้อตกลงต่าง ๆ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของสินค้าเสื้อผ้า แต่ยังมีกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต้องนำมาพิจารณาด้วย และการเข้าก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก็ต้องได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก

แต่อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP (ข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก) หากมองในมุมมองของภาคเอกชน เมื่อไทยสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก และผู้ประกอบการเองพร้อมสนับสนุนเต็มที่

โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เราเป็นผู้ผลิตแบบครบวงจร ซึ่งดีระดับต้น ๆ ของภูมิภาคนี้ เมื่อไรเราเป็นสมาชิก CPTPP ก็จะทำให้เราส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

Q : ตอนนี้ไทยก็ขยายการลงทุนในอาเซียนผลเป็นอย่างไร


ผลจากการขยายการลงทุนผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกในประเทศเพื่อนบ้านก็มีการเติบโตเป็นอย่างมาก สมาคมพบว่ามีมูลค่าการส่งออกจากฐานผลิตเพิ่มเป็นหลายหมื่นล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% อีกทั้งยังมีแผนที่จะขยายโรงงานเดิมที่มีอยู่เพื่อผลิตสินค้าให้กับตลาดนำเข้ามากขึ้น