TU อ่วมรายได้-กำไรไตรมาส 1/61 หด

ค่าเงินบาทที่แข็งค่า-ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบยอดขาย TU ไตรมาส 1 ปี’61 เท่ากับ 29,703 ล้านบาท ลดลง 5.5%-กำไรสุทธิ 869 ล้านบาท ลดลง 39.3%

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน เปิดเผย รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2561 ยอดขายรวมลดลง 5.5% เท่ากับ 29,703 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและยอดขายปลาทูน่าที่ลดลง ในส่วนของผลกำไร บริษัทมีกำไรสุทธิเท่ากับ 869 ล้านบาท ลดลง 39.3% เมื่อเทียบจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กำไรขั้นต้นลดลง 26.2% จากปีก่อน เท่ากับ 3,360 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับ 11.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 ปี 2560 ที่ 14.5% ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงเป็นผลจากสินค้าคงคลังที่มีต้นทุนราคาวัตถุดิบที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจปลาทูน่า รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอีกด้วย

ในส่วนของยอดขายไทยยูเนี่ยนในไตรมาส 1 ปี 2561 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (ambient) มียอดขายลดลง 1.6% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 14,100 ล้านบาท ส่วนยอดขายธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นของบริษัท ลดลง 8.9% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็น 11,522 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า มียอดขายลดลง 8.2% จากปีที่แล้ว อยู่ที่ 4,080 ล้านบาท

ในไตรมาส 1 ของปี 2561 ยอดขายในอเมริกาเหนือ มีสัดส่วน 40% ของยอดขายรวมทั้งหมด ในขณะที่ตลาดยุโรป คิดเป็น 32% ตลาดประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 12% และยอดขายตลาดอื่นๆ คิดเป็น 16%

สภาพตลาดที่มีการแข็งขันสูงขึ้นในอเมริกาเหนือและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง มีผลทำให้ยอดขายอาหารทะเลแปรรูป อาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็น โดยเฉพาะกุ้งและล็อบสเตอร์ ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าในภูมิภาคหลักนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย จีน และตะวันออกกลาง ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยมียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดขายสินค้าใหม่และความพยายามในการขายและการตลาด

ค่าใช้จ่ายในด้านการขายและการบริหารจัดการปรับตัวดีขึ้นเป็น 11.23% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561เมื่อเทียบกับ 11.79% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าผลกำไรจะลดลง บริษัทยังคงมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง ที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิปรัตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.35 เท่า ในไตรมาส 1 ของปี 2561 เปรียบเทียบกับ 1.38 เท่า ณ สิ้นปี 2560

“ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าคงคลังที่สูงและความผันผวนในหลายๆตลาดทั่วโลก เรายังมีรายได้อื่นๆ และความสามารถในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมาช่วยหนุนกำไรสุทธิของเรา” นายธีรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อที่จะผ่านความท้าทายทางธุรกิจและสภาวะตลาดที่ผันผวนนี้ไปให้ได้ ขณะนี้ความกดดันในเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ได้เริ่มคลี่คลายลงหลังจากราคาปลาทูน่าเริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

ไทยยูเนี่ยนยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและตกลงเข้าซื้อหุ้น 45% ของ ทียูเอ็มดี ลักเซมเบอร์ก (TUMD Luxembourg S.a.r.l หรือ TUMD) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทในรัสเซีย 3 แห่ง คือ ดาลพรอมรีบา ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Dalpromryba Limited Liability Company) ทอโกโว-พรอมิเชนนี คอมเพลกซ์ “ดาลพรอมรีบา” ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Torgovo-Promyshlenny Kompleks “Dalpromryba” Limited Liability Company) และมากูโร ลิมิเต็ด ไลอะบิลิตี้ คอมพานี (Maguro Limited Liability Company) โดยทั้ง 3 บริษัทนี้ รวมเรียกว่า ดีพีอาร์ กรุ๊ป (DPR Group)

สำหรับดีพีอาร์ดำเนินธุรกิจปลาและอาหารทะเลที่เน้นค้าปลีกและเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย ไทยยูเนี่ยน เลือกลงทุนในดีพีอาร์ เพราะแพลตฟอร์มการผลิตและจัดจำหน่ายของบริษัทนี้ สามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาและเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมาก ดีพีอาร์ มียอดขายราว 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ดำเนินธุรกิจทั้งในเซกเมนต์ของอาหารแปรรูปและแช่แข็งและเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง มากูโร (Maguro) แคปตัน ออฟ เทสส์ (Captain of Tastes) และไรบาร์ (Rybar)

การที่ไทยยูเนี่ยนเข้าซื้อหุ้น 45% ของทียูเอ็มดี เป็นการซื้อหุ้นทั้งที่ออกใหม่และหุ้นของลูกค้า ซึ่งมีมูลค่า 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยออพชั่นต่างๆ ตามที่มีการตกลงกัน ไทยยูเนี่ยน คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 51% และ 80% ตามลำดับในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้การเข้าลงทุนนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันการผูกขาดบริการของรัสเซีย (The Russian Federal Anti-Monopoly Service)

ผลดีจากการเข้าลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยให้ไทยยูเนี่ยนครอบคลุมตลาดอาหารทะเลสำคัญหลักๆในยุโรปได้เกือบทั้งหมด รวมถึงสามารถเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ที่มีการเติบโตอย่างสูงได้อีกด้วย

โดยรัสเซียมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่และเจริญเติบโต แต่การบริโภคทูน่ายังต่ำแต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง มีการคาดการณ์ว่ายอดขายทูน่าและอาหารทะเลอื่นๆ จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมถึงการเอาใจใส่ต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งความร่วมมือกับ ไทยยูเนี่ยน จะช่วยให้พีดีอาร์ มีบทบาทในตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น และยังมีแผนที่จะดันยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ การลงทุนในนวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน เริ่มเห็นผลลัพธ์ในทางบวก จากการเปิดตัวของเยลโลฟิน ทูน่า สไลซ์ และไส้กรอกทูน่า สองสินค้านวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นจากศูนย์นวัตกรรมของไทยยูเนี่ยน

เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ เป็นทูน่าแผ่นปรุงรสพร้อมทาน ที่ทำจากเนื้อปลาทูน่าล้วน สายพันธุ์ครีบเหลือง รายแรกของโลก เพื่อลูกค้าที่ต้องการทางเลือกในการรับประทานอาหารกลางวันที่สะดวก รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เยลโล่ฟิน ทูน่าสไลซ์ ได้รับรางวัล Seafood Excellence Award 2018 ในหมวดผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจบริการด้านอาหารใหม่ที่ดีที่สุด จากงานซีฟู้ด เอ็กซ์โป นอร์ทอเมริกา (Seafood Expo North America) ที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ ยังได้เปิดตัวที่ยุโรปในงาน ซีฟู้ด เอ็กซ์โป โกลบอล ที่บรัสเซลส์ในเดือนเมษายน และยังติดหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัล Seafood Excellence Global Awards จากงานนี้อีกด้วย

“ขณะนี้เยลโลฟิน ทูน่าสไลซ์ ได้เปิดตัวขายทั่วสหรัฐอเมริกาให้กับร้านอาหารและเคานเตอร์ขายอาหาร ภายใต้แบรนด์ชิกเก้นออฟเดอะซี และเริ่มทำการขายบ้างแล้วในยุโรปและตะวันออกกลาง”

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน กำลังดำเนินมาตรการและกิจกรรมหลายอย่างที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® เมื่อเดือนมีนาคม บริษัทได้ผนึกกำลังร่วมแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากพลาสติกในท้องทะเล กับโครงการ Global Ghost Gear Initiative (GGGI) เพื่อลดปัญหาการทิ้งอุปกรณ์จับปลาในท้องทะเลทั่วโลก

ในเดือนเมษายน ไทยยูเนี่ยน ได้รับรางวัลชนะเลิศบริษัทในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการ (Most Committed to Corporate Governance) และบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Best at Corporate Social Responsibility) จากการสำรวจบริษัทที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในเอเชียครั้งที่ 18 (18th Asia’s Best Managed Companies) โดย FinanceAsia

และในเดือนกุมภาพันธ์ ไทยยูเนี่ยนและเนสท์เล่ ได้ร่วมมือกันเปิดตัวเรือสาธิตอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทย โดยทั้งสองบริษัทร่วมกับ Vérité ปรับปรุงเรือประมงแบบเก่าของไทย โดยปรับให้เป็นเรือประมงที่มีสภาพความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ซึ่งรวมถึงอาหารและน้ำดื่มที่สะอาดอย่างพอเพียง พื้นที่สำหรับการพักผ่อนอย่างเหมาะสม พื้นที่รับประทานอาหารและทำกิจกรรมยามว่าง มีชุดปฐมพยาบาล และห้องน้ำที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย

นอกจากนี้แล้ว ไทยยูเนี่ยน ได้เปิดตัววิดีโอสั้น ในโครงการนำร่องระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งพัฒนาร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ ในการช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล เนื้อหาวิดีโอดังกล่าวแสดงถึงการติดตั้งระบบบนเรือประมงในประเทศไทย รวมทั้งการแนะนำวิธีการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนให้กับลูกเรือ กัปตัน และเจ้าของเรือในขณะออกทะเล ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมประมงไทยที่มีการติดตั้งระบบดังกล่าว

“ไทยยูเนี่ยน มีบทบาทในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเพราะเราเป็นหนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก” นายธรพงศ์กล่าวเสริม “เมื่อมองไปข้างหน้า ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าทำงานอย่างหนักเพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการของผู้บริโภคทั่วโลก ในรูปแบบที่ยั่งยืนและปกป้องมหาสมุทรเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต”