
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้ลงนามในสัญญาให้บริษัทภูเก็ต ดีพ ซี พอร์ต จำกัด เป็นผู้รับสิทธิลงทุนและบริหารจัดการท่าเรือภูเก็ตเป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อพัฒนาจากท่าเรือร้างเป็นท่าเรือสำหรับท่องเที่ยว รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่เป็นแห่งแรกของภาคใต้ และแห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากท่าเรือแหลมฉบัง และช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวทางน้ำตามนโยบายของรัฐบาล
“โครงการนี้มีการดำเนินการมานานกว่า 2 ปี โดยผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต ซึ่งเสนอค่าธรรมเนียมการจัดหาผลประโยชน์มาให้กรมฯ สูงสุดที่ 345 ล้านบาท มากกว่าเงื่อนไขที่กรมกำหนด 139 ล้านบาท และยังมีแผนลงทุนพัฒนาอีกกว่า 132 ล้านบาท เพื่อขยายหน้าท่าเรือ สร้างอาคารผู้โดยสาร การขูดเพิ่มความลึกล่องน้ำ และปรับปรุงลานจอดรถอีก ซึ่งจะรองรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากต่างชาติได้ เพราะปกติคนที่โดยสารมาทางเรือสมุทรขนาดใหญ่จะมีกำลังการใช้จ่ายสูงกว่าทางเครื่องบินมาก”
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
- กกต. รายงานผลเลือกตั้ง ส.ส. 2566 รวม 500 คน อย่างเป็นทางการแล้ว
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน หมอชลน่าน ศรีแก้ว พ้น ส.ส. รวย 560 ล้านบาท
ส่วนแผนการพัฒนาท่าเรือที่เหลือของกรมธนารักษ์ ในส่วนท่าเรือสงขลา อยู่ระหว่างให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งตามระเบียบจะต้องเข้ากระบวนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งคาดจะเสร็จและเริ่มประมูลได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนท่าเรือเชียงแสน ได้ให้เทศบาลตำบลเวียงเชียงแสนเป็นผู้พัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ทางเทศบาลได้ทำแผนพัฒนาทางท่องเที่ยวเสนอให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับทราบเรียบร้อยแล้ว
สำหรับความคืบหน้าการต่อสัญญาการเช่าที่ราชพัสดุของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าในปี 2565 ขณะนี้ได้ข้อสรุปราคาค่าเช่าแล้ว โดยกรมธนารักษ์จะต่อสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้กับบริษัทไทยออยล์ไปอีก 30 ปี รวมค่าเช่าตลอดอายุสัญญาอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี สูงกว่าราคาขั้นต่ำและราคาที่แจ้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ 8,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้ในเร็วๆนี้
