
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
บริษัทที่ให้บริการตรวจสอบด้านวิศวกรรมในประเทศไทย เป็นธุรกิจลักษณะเฉพาะที่น้อยคนจะรู้จัก แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ที่ต้องเฝ้าระวังความปลอดภัยในทุก ๆ ขั้นตอน
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.มัลลิกา แก่กล้า” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยีจำกัด (มหาชน) หรือ DEXON แม่ทัพหญิงผู้กุมบังเหียนบริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรมและสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับการตรวจสอบและประเมินความสำบูรณ์ของท่อเพียงรายเดียวในไทย
ปักหมุดในไทย 29 ปี
ดร.มัลลิกา ฉายภาพว่า เด็กซ์ซอนเข้ามาลงทุนในไทยเมื่อปี 1996 (2539) อายุ 29 ปีกว่า ตั้งต้นเป็นผู้ให้บริการตรวจสอบทางวิศกรรม ซึ่งภาพเหมือนเมื่อเวลาเราเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ เช่นเดียวกันกับโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเขาต้องการอยากตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ก็ต้องมาหาเด็กซ์ซอนฯ
“หน้าที่เราจะวิเคราะห์ว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้อยู่นั้นยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ โดยส่งบุคลากรเข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์แต่ละประเภทในโรงงานตามหลักทางวิศวกรรม จากนั้นจะส่งรายงานวิเคราะห์ให้ลูกค้านำไปวิเคราะห์ต่อว่าจะต้องบำรุงรักษาอย่างไรต่อไป”
ต่อมาได้ขยายธุรกิจเรื่องการพัฒนาอุปกรณ์การตรวจสอบอุปกรณ์เฉพาะด้าน เช่น ท่อลำเลียง (Pipeline) เช่น ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่ จ.สมุทรปราการ หากจำกันได้เหตุการณ์ท่อส่งก๊าซระเบิด ซึ่งท่อที่ใช้ไม่ว่าจะลำเลียงของเหลว (Liquid) ก๊าซ หรือของเหลวต่าง ๆ จำเป็น (Require) ต้องตรวจสอบท่อ เพื่อให้มีความปลอดภัยที่สุด
วิธีการตรวจสอบเราจะใช้เทคโนโลยีอินเทลลิเจนปิ๊กกิ้ง ใส่เข้าไปในท่อ จะเห็นสภาพท่อ เราจะรู้ว่าท่อไม่มีรอยบุบ รอยร้าว การแตกกร่อนภายใน ยังอยู่ในสภาพการใช้งานหรือไม่ หรือมีการรั่วไปปนเปื้อนในดินในทะเลหรือไม่
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนมาก นั่นคือ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่ง ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน เรามีฐานลูกค้ากว่า 2,000 ราย กระจายอยู่กว่า 40 ประเทศ ทั้งในแอฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ เอเชีย ยุโรป
ปัจจุบัน DEXON มีบริษัทลูก คือ บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี พีทีอี ลิมิเต็ด (DTS) ทำเรื่องบริการดาต้าอินสเป็กชั่น, บริษัท เด็กซ์ซอน เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด (DTC) ทำเรื่องฝึกอบรม ส่งเสริมความสามารถ และทักษะบุคลากร, บริษัทเด็กซ์ซอน เมคคานิคอล โซลูชั่นส์ จำกัด (DMS) ให้บริการงานออกแบบทางด้านวิศวกรรม และบริษัท ดาคอน ยุโรป บีวี (DEBV) เพื่อให้บริการลูกค้าในสหรัฐ และสหภาพยุโรป
โดยมีบริษัทในสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอเมริกา บริษัทจึงมีบุคลากรไทยสัดส่วน 80-85% และที่เหลือเป็นชาวต่างชาติที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติมาก
เข้า mai บุกตลาดสหรัฐ-อียู
เมื่อเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ในเดือนมีนาคม 2566 จึงเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การนำเงินไปขยายธุรกิจใน 2 ประเทศหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทไปเมื่อเดือนมกราคม 2566 และอีกประเทศคือเยอรมนี จัดตั้งบริษัทสำเร็จไปเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังแจ้งต่อ ตลท. ถึงการนำเงินไปเพื่อลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา
การขยายการลงทุนในอเมริกาและยุโรปทั้ง 2 แห่งลงทุนและถือหุ้นในนามของเด็กซ์ซอนไทยแลนด์ 100% เราจะโฟกัสเรื่องการพัฒนาอุปกรณ์ intelligent pigging เน้นระบบเรื่องการลำเลียงท่อเป็นหลัก เพราะจากการสำรวจ พบว่าในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และยุโรป มีโครงข่ายท่อลำเลียงจำนวนมาก ด้วยภูมิประเทศที่ใหญ่ ทั้งที่ถูกสร้างมาใหม่และที่มีอายุการใช้งานเก่าแก่มาก ดังนั้นดีมานด์การตรวจสอบจึงมีมากตามไปด้วย
“ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการตรวจสอบที่มีการแข่งขันต่ำ มีผู้เล่นน้อยราย ถ้าในประเทศไทยแล้วมีเด็กซ์ซอนเพียงรายเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้ ส่วนผู้เล่นฝั่งยุโรปและอเมริกาอาจจะมีมากกว่า แต่ถ้าเทียบกับปริมาณท่อที่มีจำนวนมาก เรามองว่าเป็นโอกาสในการเติบโต”
เป้าหมาย ปี 2567 โต 10%
ย้อนกลับไปปี 2565 ที่เข้าตลาด mai เป็นจังหวะที่เราสร้างผลงานยอดขายได้ดีมาก ปี 2566 เราวางเป้ายอดขายโต แต่อัตรากำไรลดลง เพราะลงทุนสร้างอุปกรณ์ วิจัยพัฒนาและสร้างบริษัทย่อยในต่างประเทศ ต้นทุนการบริหารจึงเพิ่มกำไรเลยลดลง แต่เป็นการลดลงแบบที่พึงพอใจ
“เป้าหมายปี 2567 หวังว่าสร้างรายได้ กำไรสุทธิได้ดีกว่าปี 2566 เนื่องจากบริษัทที่อเมริกาเข้ารอบปีที่ 2 หลังจากเริ่มดำเนินธุรกิจ เราเห็นเทรนด์ชัดว่าลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และจะมีที่เยอรมนีเเป็นปีแรกของเขาก็ต้องมอนิเตอร์เรื่องของผลประกอบการ เราตั้งเป้าการเติบโตต้องไม่ต่ำกว่า 10% Bottom Line ไม่ต่ำกว่า 15%”
ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจที่อยู่ในประเทศและรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งก็ยังมีงานในมือที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อรอส่งมอบ และรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่อีกจำนวนหนึ่ง กรณีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบแบบมีสาระสำคัญ
กลยุทธ์บริหารธุรกิจข้ามประเทศ
จากจุดเริ่มต้นที่เราลงทุนเลือกโลเกชั่นที่บ้างฉาง จ.ระยอง ซึ่งห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 5 กิโลเมตร ที่นั่นมีโรงงานอุตสาหกรรม 100 กว่าโรง เป็นภูมิศาสตร์ที่ดี ปี 2538 เขาเริ่มก่อสร้าง เราไปตั้ง ปี 2539 จนปัจจุบันกลุ่มปิโตรเคมียังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่สร้างการเติบโตรายได้ด้านการตรวจสอบที่ดี
ในต่างประเทศบริษัทเราลงทุน 100% ที่ผ่านมาเรื่องการขยายธุรกิจต่างประเทศไปถึงทุกทวีปแล้ว มากกว่า 40 ประเทศ บางประเทศที่ไม่เคยรู้จักอย่าง สาธารณรัฐชาด (Chad) มาลี ซึ่งการเข้าไปให้บริการในต่างประเทศ บางประเทศที่มีความผันผวน มีประเด็นกังวล คืออย่างที่อเมริกาใต้ซึ่งมีดีมานด์สูงแต่ค่อนข้างยากในแง่ปัจจัยความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือพื้นที่ Red Zone ปากัวนิวกินี ไนจีเรียก็มีติดต่อเข้ามา
บางประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ก็ต้องผ่าน Agent เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งบุคลากรเข้าไปพื้นที่เสี่ยง หรือในเมียนมาก็มีลูกค้าแต่ไม่ห่วงเพราะอยู่ใกล้กันกับประเทศไทย
“เรายังมองหาตลาดใหม่ ๆ หากลูกค้ามีดีมานด์มา เราก็พร้อมจะไปให้บริการ ไม่ห่วงจะเป็นประเทศในโซนไหน เพราะเรามีทีมวิเคราะห์ภูมิประเทศ ที่แยกกลุ่มว่าเป็น Red Zone Yellow Zone Green Zone ในกรณี Red Zone ต้องดูความพร้อมด้านความปลอดภัยจากฝั่งลูกค้า ถ้ามีจุดที่ไม่สามารถส่งวิศวกรเข้าไปได้ จะใช้คอนแทร็กต์ผ่านพาร์ตเนอร์ในประเทศนั้น ด้วยการโพไวด์รีโมตเทรนนิ่ง ให้เขา Operate Tools ให้เรา เมื่อส่งเครื่องมือเข้าไปครบเราจะได้ดาต้าที่ถูกส่งเข้ามา เพื่อวิเคราะห์วิธีนี้ไม่เสี่ยงมากกับบุคลากรของเรา”