ลุ้นรถไฟไฮสปีดอีอีซี 22 พ.ค. BAFS ปรับแผนวอนรัฐช่วย

ลุ้น 22 พฤษภาคม “เอเชีย เอรา วัน” ยื่นเอกสารขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่งผลโครงการต่อเนื่องสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ต้องปรับแผน ขณะที่ระบบท่อส่งน้ำมันแรงดันสูงของ BASF ยังวางท่อไม่ได้ วอนขอรัฐบาลขยายระยะเวลาสัญญาให้ยาวขึ้น พร้อมขอให้รัฐช่วยค้ำประกันเงินกู้

ความล่าช้าของ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 224,544 ล้านบาท หลังการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับ บริษัทเอเชีย เอรา วัน ในฐานะเอกชนคู่สัญญาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 4 ปี กำลังส่งผลกระทบไปยังโครงการต่อเนื่องอื่น ๆ ในสนามบินอู่ตะเภา

ไม่ว่าจะเป็นโครงการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ของ บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จากัด (มหาชน) หรือ BAFS กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จนกระทั่งถึง บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น หรือ UTA

วางท่อน้ำมันไม่ได้

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนโครงการใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาที่ลงนามไว้กับ EEC ขณะนี้การก่อสร้างถังน้ำมันเสร็จแล้ว อาคารสำนักงานเกือบเสร็จ

แต่ยังมีงานคงค้างคือ ระบบท่อน้ำมันแรงดันสูง ยังไม่สามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากต้องรอ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูล โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ให้สรุปเรื่องแบบก่อน หลังจากได้แบบ-ลานจอดแล้ว บริษัทจึงจะดำเนินการวางท่อน้ำมันได้

“ปัจจุบันมีความล่าช้ามากเพราะ ผู้ประกอบการกลุ่ม UTA ก็รอเพราะ UTA จะเริ่มก่อสร้างเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ ครบถ้วนตามสัญญา รวมไปถึง เรื่องรันเวย์ที่ 2 ซึ่งทางกองทัพเรือจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เข้าใจว่า ทำเรื่องการจ้างที่ปรึกษาออกแบบแล้ว ตอนนี้รอเรื่องงบประมาณทำรันเวย์” ม.ล.ณัฐสิทธิ์กล่าว

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้โครงการล่าช้า นั่นก็คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา) ของ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งถ้ามีสัญญาณชัดว่า “ทำแน่นอน” ทางกลุ่ม UTA ก็พร้อมจะทำสถานี

โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ถือเป็นเดือนสำคัญสำหรับ บริษัทเอเชีย เอรา วัน ผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูง จะดำเนินการต่อหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายแล้วที่ทาง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยอมขยายระยะเวลาให้บริษัทมาขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน หลังจากที่ขยายมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ระบบท่อส่งน้ำมันแรงดันสูงของ BAFS เป็นหนึ่งใน โครงการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,200 ล้านบาท ของ บริษัทโกลเบิลแอโร่แอสโซซิเอทส์ หรือ GAA ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท

โดย GAA เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ถือหุ้น 55% กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ถือหุ้น 45% โดยบริษัทได้รับการคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบการระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภาในรูปแบบกิจการร่วมค้า

ช้า 2 ปีขอรัฐบาลช่วย

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวในส่วนของโครงการของบริษัทนั้น เดิมคาดการณ์ว่า จะเปิดทำการได้ในปี 2570 แต่ตอนนี้บริษัทเลื่อนกำหนดไปเป็นปี 2572 แล้วและได้มีการหารือกับ EEC สำหรับผู้ประกอบการ “ซึ่งผมเรียกว่า กลุ่มเด็กดีที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา TOR ตลอด ให้สร้างก็สร้าง”

ดังนั้นทางภาครัฐโดยเฉพาะ สำนักงาน สกพ. หรือ EEC ก็น่าจะมีการสนับสนุนช่วยเหลือหรือชดเชยความล่าช้าของโครงการที่ไม่ได้เกิดจากบริษัทอย่างไรได้บ้าง โดยทางผู้ประกอบการก็พร้อมหารือ พูดแทนผู้ประกอบการคนอื่นด้วยที่อาจลงทุนโซลาร์ไปแล้ว ลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียไปแล้ว แต่สนามบินอู่ตะเภายังไม่มา แผงโซลาร์ก็เสื่อมไปทุกวัน ดังนั้นควรมีมาตรการบางอย่างมาช่วยเหลือ

“รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การขยายระยะเวลาสัญญาให้ยาวขึ้น เรื่องมาตรการช่วยเหลือการรับประกันเงินกู้ เพราะวันนี้ให้ผู้ประกอบการที่ถึงแม้จะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งแค่ไหน ไปขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับการลงทุนใน EEC ทางธนาคารพาณิชย์ก็จะเอ๊ะขึ้นมา ซึ่งจะมีคำถามมากมาย ก็ต้องเข้าใจว่า ธนาคารเองก็ไม่มั่นใจว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไรกับ EEC

แต่ถ้าวันนี้รัฐบาลยืนยันที่จะสานต่อโครงการแน่นอนก็ควรจะให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้สำหรับเอกชนในโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ว่ารัฐบาลให้ความมั่นใจกับธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยเงินกู้ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ เรื่องอื่น ๆ ก็จะเป็นการสนับสนุนทั่วไปที่อยู่ในกรอบของ EEC อยู่แล้ว” ม.ล.ณัฐสิทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม BAFS ยังเชื่อมั่นว่า “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินอย่างไรก็เกิด เพียงแต่สนามบินอาจจะล่าช้า” ซึ่งในทิศทางที่ BAFS หารือกับ กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิ เอชั่น หรือ UTA ปรากฏพื้นที่ในภาคตะวันออกจะไม่ใช่แค่สนามบิน

แต่จะมีศูนย์แสดงสินค้า การดึงดูดการท่องเที่ยว สนามกีฬา สนามแข่งรถ มีทางต่อไปยัง ท่าเรือสำราญ ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์ที่รัฐบาลพยายามแก้ไข เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะต้องกลับมาทบทวนว่า ถ้าผู้ประกอบการ (กลุ่มบริษัทเอเชีย เอรา วัน) ไม่ลงทุน จะสามารถปรับลดสเกลลงจาก รถไฟความเร็วสูง ไปเป็น ถไฟความเร็วพอประมาณ ได้หรือไม่

เพื่อลดวงเงินทุนในโครงการลงมาครึ่งหนึ่ง ถ้าใช้รถไฟความเร็วสูงวิ่งได้ 200-300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มีหลายสถานีต้องจอดระหว่างทางก็ใช้ความเร็วได้แค่ 160-170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง “ในความเห็นส่วนตัวของผม หากรัฐบาลยอมทบทวนเงื่อนไขเอกชนก็พร้อมที่จะลงทุน” ม.ล.ณัฐสิทธิ์กล่าว

UTA คาดออก NTP ปลายปี’67

ด้าน นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ผู้รับสิทธิการพัฒนาและบริหารโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวยอมรับว่า แผนการพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์แห่งนี้ “ล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้” และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

นอกจากนี้ UTA ยังติดเงื่อนไขข้อตกลงร่วมกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งเป็นโครงการคู่แฝดกับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่มีความชัดเจน ทำให้คู่สัญญายังไม่สามารถกำหนดเวลาส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือแจ้งเอกชนเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ให้ UTA เริ่มงานได้

“เดือนมิถุนายน 2567 นี้ก็จะครบ 4 ปีของการลงนามพัฒนาโครงการ ระหว่างนี้ UTA ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไป ซึ่งคาดว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาอยู่ โดยเชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติประมาณไตรมาส 2-3 ของปีนี้และมั่นใจว่า NTP จะออกได้ประมาณปลายปี 2567” นายวีรวัฒน์และว่า

ข้อสรุปของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นเรื่องของรัฐบาลกับคู่สัญญาที่รับสัมปทาน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งเคลียร์ ส่วนจะเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมหรือจะเป็นรายใหม่ บริษัทเชื่อว่าสุดท้ายจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจากตามแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนให้ สนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 เชื่อมกับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ หากรถไฟความเร็วสูงไม่เกิดจะทำให้อู่ตะเภามีอุปสรรคและกระทบแผนดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่ EEC มหาศาล

เส้นตายเอเชีย เอรา วัน

สำหรับความคืบหน้าของ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของ บริษัทเอเชีย เอรา วัน นั้น ในขณะนี้เหลือระยะเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น (22 พฤษภาคม 2567) ที่บริษัทจะต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมให้กับ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุน หลังจากที่ได้เลื่อนระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมมาแล้วถึง 2 ครั้ง

โดยการได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่ ร.ฟ.ท.จะออก หนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP หรือ Notice to Proceed) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการเริ่มก่อสร้างโครงการ โดยระบุไว้ในสัญญาร่วมทุนที่ว่า จะต้องมี “บัตรส่งเสริมการลงทุน” มาแสดง ร.ฟ.ท.จึงจะออก NIP ได้

ดังนั้นการไม่มายื่นเอกสารการดำเนินการของบริษัทเพื่อออก “บัตรส่งเสริมการลงทุน” จึงเป็นเหตุให้โครงการไม่มีความคืบหน้าทางด้านงานโยธามาตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม นับตั้งแต่บริษัทได้รับการอมุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในวันที่ 13 มิถุนายน 2563

ความล่าช้าในการยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ บริษัทเอเชีย เอรา วัน มาจากการที่บริษัทกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อขอแก้ไขสัญญาร่วมทุน ที่ผ่านมาบริษัทได้แจ้งถึงปัญหาที่ขอให้รัฐบาลพิจารณาไม่ว่าจะเป็นขอให้รัฐพิจารณาปรับวิธีการจ่ายเงินร่วมลงทุนวงเงิน 118,611 ล้านบาทให้เร็วขึ้น

จากเดิมที่รัฐจะจ่ายเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จมาเป็นจ่ายเงินเมื่อเนื้องานส่วนใหญ่เสร็จ, การแบ่งจ่ายเงินค่าใช้สิทธิรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท, การขอให้รัฐบาลช่วยหา Soft Loan , การขอให้รัฐตั้ง Contingency Fund ตลอดจนการขอเพิ่มให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ (สกพอ.) เป็นคู่สัญญา เป็นต้น

อนึ่ง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นนิติบุคคลร่วมค้าเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดย กิจการร่วมค้า บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ถือหุ้นมากสุด 70%), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน จากประเทศจีน