สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ วอนอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะ “ประธานคณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน” เร่งสานต่อคดีให้จบ หลังร้างราการเรียกประชุมหารือคณะทำงานมานานกว่า 10 เดือน ทำคดีไม่คืบและปัญหายังไม่คลี่คลาย เกษตรกรทั่วประเทศมองการทำงานภาครัฐด้วยความหนักใจ หวั่น “ผู้ร้าย” ทำลายหลักฐาน โยกย้ายเงิน และหลบหนี จนเจ้าหน้าที่รัฐคว้าน้ำเหลว
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกษตรกรมีความหนักใจเกี่ยวกับความล่าช้าในการดำเนินคดีหมูเถื่อนที่ขณะนี้หยุดชะงักอยู่หลายคดี ไม่ว่าจะเป็น “คดี 161 ตู้” และ “คดี 2,385 ใบขน” ซึ่งแตกเป็นคดีย่อยอีกหลายคดี ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการไม่มีการประชุมติดตามงานใด ๆ ในคณะทำงาน (คณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง) มานานกว่า 10 เดือนแล้ว จนเป็นเหตุให้การสืบสวนสอบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนการทำงานของ DSI-ป.ป.ช.ไม่คืบหน้า
“ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สมาคมมีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศให้กลับมาประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข หลังบอบช้ำแสนสาหัสจากปัญหาหมูเถื่อน แต่ในช่วงเกือบปีมานี้กลับไม่มีการเรียกประชุมคณะทำงาน
เพื่อติดตามความคืบหน้าด้านการสอบสวนและแก้ปัญหาใด ๆ จนทำให้เกษตรกรทั่วประเทศหนักใจ เกรงคดีล่าช้าจนเกิดความเสียหาย หรือนำไปสู่การทำลายหลักฐานของผู้ร้ายในขบวนการหมูเถื่อน ปัญหานี้หากถูกซ่อนไว้ใต้พรม เงียบหาย มันจะวกกลับมาทำลายเกษตรกรได้อีกในอนาคต” นายสิทธิพันธ์กล่าว
นอกจากนี้ การทำงานของกรมศุลกากรเองก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยในหลายประเด็น อาทิ การสอบสวนการยื่นขอเปิดเขตปลอดอากร (Free Zone) รวมถึงการตรวจสอบตู้ตกค้างในท่าเรือกรุงเทพและลาดกระบัง ตลอดจนเหตุผลที่ไม่มีการอายัดสินค้าในเขตปลอดอากรของผู้ต้องหา 2 บริษัทในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่โดนจับไปก่อนหน้า
อีกทั้งยังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่อนุมัตินำเข้าสินค้าหมูเถื่อนที่สำแดงเท็จเป็นปลาแช่แข็ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อขอให้สานต่อภารกิจของคณะทำงานแล้ว
“เราคาดหวังการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว รวมถึงการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต เพื่อรักษาอาชีพของเกษตรกรทุกคน ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในกระบวนการทางกฎหมายของบ้านเมือง ที่ควรเอาผิดผู้ร้ายให้ได้ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร” นายสิทธิพันธ์กล่าว
อนึ่ง คณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง ตั้งขึ้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566 มี “อธิบดีกรมศุลกากร” เป็นประธานคณะทำงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นคณะทำงานหลายภาคส่วน อาทิ ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ผอ.สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เป็นต้น