
ส.อ.ท. เผยเดือนเมษายน 2567 ยอดผลิตรถยนต์ได้แค่ 104,667 คัน ส่วนยอดขายเหลือ 46,738 คัน ลดลงถึง 21.49% หลังแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ บวกเศรษฐกิจโตต่ำ หนี้ครัวเรือนพุ่งทำกำลังซื้อหด ตกไปเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซีย วอนรัฐกระตุ้นการซื้อรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะ
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 ถึง 24.34% และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 11% หรือมียอดผลิตอยู่ที่ 104,667 คัน
โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์นั่งและรถกระบะที่ขายในประเทศ เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตที่ต่ำ เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง จึงส่งผลให้ยอดผลิตรถ 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2567) มีจำนวนทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลง 17.05%
แต่ในทางกลับกัน พบว่ายอดผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 71,928 คัน หรือมีสัดส่วน 68.72% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 5.92% แต่เมื่อดูภาพรวม 4 เดือน จะเห็นว่าการผลิตเพื่อส่งออกจะอยู่ที่ ซึ่งก็ยังลดลงจากปีที่แล้ว 2.93%
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 46,738 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 ถึง 16.69% และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 21.49% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระดับต่ำ จากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนของรัฐบาลลดลงมาก จนทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง ยอดขายรถยนต์จึงลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 21.49% จนตกไปเป็นอันดับ 3 รองจากประเทศมาเลเซีย
ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่ (BEV) ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มียอดจดทะเบียนสะสมทั้งสิ้น 167,334 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสูงถึง 187.38% โดยพบว่าทั้งรถยนต์โดยสาร รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รถกระบะและรถแวน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล และรถบรรทุกมีการเติบโตทะลุเกิน 400%
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่องบประมาณปี 2567 มีผลแล้ว หวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งรัฐบาลก็ได้กระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนเมษายนแล้ว
จึงขอรัฐบาลช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90% ซึ่งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากพอ ๆ กับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น