เปิดแผนราช กรุ๊ป ยุค “นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์” ทุ่ม 15,000 ล้าน ปี 2567 ลงทุนอะไร

“ราช กรุ๊ป” ทุ่ม 15,000 ล้าน ปี 2567 รุกธุรกิจพลังงาน-โครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าลงทุนพลังงานหมุนเวียน อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์-เวียดนาม-ไทย ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตปีละ 700 MW ดัน EBITDA  พุ่ง 14,124 ล้านบาท สิ้นปีรอลุ้น  PPA ตามสัญญาพร้อมปรับโมเดลธุรกิจ พร้อมสานต่อต่อแผนลงทุน 10 ปี

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยนโยบายหลังรับตำแหน่งว่า บริษัทจะยังเดินหน้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยจะมุ่งเป้าให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ และความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จควบคู่กันไป

โดยปี 2567 คาดว่า EBITDA จะเติบโตขึ้นจากปีก่อนที่ 14,124 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้จากโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้า การลงทุนในโรงพยาบาล การเข้าซื้อโรงไฟฟ้าในเวียดนามที่จะเริ่มรับรู้ผลการดำเนินงานเข้ามา

เปิดแผนลงทุน

บริษัทวางงบลงทุน 15,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2567-2573 เพิ่มขึ้นปีละ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาหลายโครงการ  แต่คาดว่าจะมีความชัดเจน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 550 เมกะวัตต์ เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นเชื้อเพลิงหลัก 1 โครงการ และเป็นโครงการพลังงานทดแทน 5 โครงการ

สำหรับแผนลงทุน ปี 2567 จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักคิดเป็น 95% ของรายได้  โดยมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งจะเน้นก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและยอมรับได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจะประกาศเลิกใช้ภายในปี 2693

ส่วนโครงการพลังงานทดแทน ยังคงเดินหน้าสานต่อเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตให้สำเร็จไม่น้อยกว่า 30% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ 26% และธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบตเตอร์รี่ เพื่อสนับสนุนโรดแมปการลดก๊าซเรือนกระจกของราช กรุ๊ปและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศด้วย สำหรับประเทศที่อยู่ในความสนใจลงทุนจะเป็นฐานธุรกิจเดิม ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย สปป.ลาว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ADVERTISMENT

บริษัทได้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปี 2567-2573 มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 700 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในมือรวมประมาณ 4,340 เมกะวัตต์

“ปี 2567 ตอนนี้มั่นใจว่า สามารถเพิ่มกำลังผลิตได้อย่างน้อย 550 เมกกะวัตต์แน่นอน เนื่องจากมีโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ 6 โครงการ ซึ่งจะมีโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก 1 โครงการและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอีก 5 โครงการ ส่วนอีก 150 เมกะวัตต์ที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการหาโครงการลงทุนเพิ่มเติม” นายนิทัศน์กล่าว

ADVERTISMENT

ส่วนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน จะขยายการลงทุนครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งรวมถึงระบบโลจิสติกส์และระบบรางและรถ เช่นเดียวกับธุรกิจบริการสุขภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักกับเชื้อเพลิงในอนาคต โดยเฉพาะไฮโดรเจน

รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของสินทรัพย์ ได้แก่ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน การนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อบริหารต้นทุนและระบบดักจับ ใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายรักษาสัดส่วนรายได้ 5% จนถึงปี 2570 และอาจขยายไปถึง 15% ในปี 2573

ไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง

สำหรับแรงหนุนรายได้ไตรมาส 2 จะเติบโตที่ดีขึ้น จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสาที่ปิดซ่อม และการเข้าซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน Paiton Energy ในอินโดนีเซีย ที่ปิดดีลเรียบร้อยและจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนในปีนี้  ซึ่งคาดว่า คาดว่าจะรับรู้กำไรตามส่วนแบ่งการลงทุนในโครงการนี้ ราว 2,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีกระแสเงินสดเพิ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองที่เริ่มดำเนินการแล้ว

นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ลุ้น Private PPA ออกโมเดลธุรกิจใหม่

“เรานิยามตนเองว่าเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ เราสามารถลงทุนได้หมด แม้แต่เรื่อง Data Center แต่ปัจจัยสำคัญคือ แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (PDP) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง Private Power Purchase Agreement (Private PPA) หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุน Data Center และคาดว่าปลายปีนี้จะได้เห็นภาพของ Private PPA ซึ่งเมื่อไหร่ที่การขายไฟฟ้ารูปแบบนี้เกิดขึ้น เราก็มีโอกาสที่เพิ่มโมเดลธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและระบบแบตเตอร์รี่กักเก็บพลังงานสำหรับ Data Center” นายนิทัศน์กล่าว

“ราช กรุ๊ป” เน้นลงทุนประเทศพันธมิตร

อย่างไรก็ตามปีนี้ต้องเฝ้าติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้หลายประเทศหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากการย้านฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติมองมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและไทย ก็เป็นตลาดที่นักลงทุนสนใจ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์น้อย โดยราช กรุ๊ปเองก็จะเน้นการลงทุนในประเทศอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว และประเทศกลุ่มโอเชียเนียอย่างออสเตรเลีย เพื่อความปลอดภัยของการลงทุน”

นอกจากนี้ยังมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในออสเตรเลียที่รัฐบาลประกาศจะเพิ่มพลังงานทดแทนเป็น 82% ในปี 2573 จากปัจจุบันที่ 27% รวมถึงประกาศยุทธศาสตร์ชาติที่จะเป็นผู้นำด้านพลังงานไฮโดรเจนของโลกในปี 2573  รวมถึงเราก็มองเห็นการเติบโตเช่นเดียวกันในอินโดนีเซีย เนื่องจากว่า ตามแผนพลังงานชาติของอินโดนีเซีย มีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20.9 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีสำหรับราช กรุ๊ปที่จะขยายการเติบโตในอินโดนีเซีย

ส่วนฟิลิปปินส์ก็มีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน 11.6 กิกะวัตต์ในปี 2569 โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นน 35% ในปี 2573 และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2583

“ราช กรุ๊ป” ชู 5 กลยุทธ์

นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายจะอยู่ภายใต้แนวคิด “ทำแล้ว ทำต่อ ทำให้ดีขึ้น” โดยจะผลักดันกลยุทธ์สำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย

กลยุทธ์ธุรกิจ ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจนอกภาคผลิตไฟฟ้า หรือ Non-power

การลงทุน เพื่อรักษากระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนให้เหมาะสม

การบริหารสินทรัพย์ ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าที่มีความมั่นคงเชื่อถือได้สำหรับประเทศและลูกค้า

การบริหารการเงิน ให้พร้อมสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การบริหารทรัพยากรบุคคล

ลงทุนต่อเนื่อง 10 โครงการ ปี 2568-2576

พร้อมกันนี้บริษัทมุ่งดำเนินแผนการลงทุนระยะ 10 ปี (ปี 2568-2576) จากปัจจุบันราช กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 9,0007.29 เมกะวัตต์  และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างตั้งแต่ปี 2567-2576 รวม 14 โครงการหรือคิดเป็น 1,809.69 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1,392.78 เมกะวัตต์หรือประมาณ 76.95%

โดยทั้ง 14 โครงการนี้ มีการลงทุนในไทย จำนวน 5,474.30 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 51% และการลงทุนในต่างประเทศอีก 5,342.95 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 49% ของกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลงทุน

 

โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้าง

โครงการเดินเครื่องปี 2567 

  1. โครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนครส่วนขยาย ปทุมธานี ประเทศไทย กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
  2. โครงการโรงไฟฟ้า REN ระบบโคเจนเนอเรชั่น นครราชสีมา ประเทศไทย กำลังผลิต 12.48 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
  3. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Calabanga ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิต 35.33 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567
  4. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Song Giant 1 ประเทศเวียดนาม กำลังผลิต 5.55 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2567

โครงการเดินเครื่องปี 2568-2573

  1. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ NPSI ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 73.5 เมกะวัตต์ มีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568
  2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเบนแจที่ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 59.60 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2568
  3. โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 2 จังหวัดราชบุรี ประเทศไทย กำลังผลิต 392.70 เมกะวัตต์ กำหนดเกินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2568
  4. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอนแกบ 3  (Lincoln Gap 3) ที่ประเทศออสเตรเลีย กำลังการผลิต 252 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2569
  5. โครงการแบตเตอร์รี่ที่ประเทศออสเตรเลีย กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ มีกำหนดเดินเครื่องในปี 2569
  6. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมใกล้ชายฝั่งซานมิเกลที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2571
  7. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซิบันดง ที่ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 36.85 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ปี 2572
  8. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซนาที่ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังผลิตอยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2572
  9. โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ริสท์ อ.ทุ่งฝาย จังหวัดลำปาง ประเทศไทย กำลังการผลิต 13.95 เมกะวัตต์ กำหนดการเดินเครื่องปี 2573
  10. โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A&4B ที่ประเทศ สปป.ลาว กำลังผลิต 213 เมกะวัตต์ กำหนดเดินเครื่องปี 2576