กรมชลพร้อมเดินหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำ-เปิดปฎิทินเพาะปลูกพืชฤดูฝนแต่ละภาค

กรมชลพร้อมเดินหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี2561 ย้ำทุกโครงการชลประทานทุกแห่ง บริหารน้ำในอ่างเก็บให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม พร้อมเก็บกักน้ำให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว กรมชลประทานได้จัดทำแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนในเขตชลประทานปี 2561 ทั่วประเทศ 16 ล้านไร่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 31 ต.ค. โดยมีเป้าหมายให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการใช้น้ำตลอดฤดูฝนปี 2561 และเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้งที่กำลังมาถึง ด้วยการวางแนวทางในการดำเนินการ คือ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น การบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน การเก็บกักน้ำในเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมที่เหมาะสมตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ โดยในพื้นที่ชลประทาน จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี

สำหรับแผนการเพาะปลูกฤดูกาลผลิตปี 2561/62 นั้น ได้มีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ทางตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา(ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป) ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ มีพื้นที่รวม 382,000 ไร่ ได้ส่งน้ำเพื่อให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 1.857 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน อีกส่วนคือพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ (ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา) ประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 สำหรับพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 4.27 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวให้เสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ก่อนจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้เป็นพื้นที่รับน้ำนองในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนหลัก 2 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ นั้น ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีอยู่ประมาณ 0.08 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนพื้นที่ดอนที่มีอยู่ประมาณ 0.80 ล้านไร่ ปกติฤดูเพาะปลูกจะเริ่มเดือนกรกฎาคม คาดว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอ จึงแนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ ทั่วประเทศ การเพาะปลูกพืชฤดูฝน จะดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน ของแต่ละพื้นที่ โดยในเขต ภาคเหนือ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูก ได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคกลาง มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.45 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูก เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 3.33 ล้านไร่ แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.60 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.73 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ภาคตะวันออก ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.31 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ภาคใต้ ที่มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.699 ล้านไร่ แยกเป็น ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.029 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 0.67 ล้านไร่ แนะนำให้เพาะปลูกได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนตกชุก สำหรับพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติประมาณเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม หากพบว่าพื้นที่ใดประสบปัญหาเรื่องน้ำ ผู้นำท้องถิ่นสามารถประสานขอความช่วยเหลือไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา หรือโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนกรมชลประทานหมายเลข 1460 เจ้าหน้าที่ชลประทานยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำด้วยความเต็มใจ

 


ที่มา มติชนออนไลน์