
กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสานต่องานเร่งรัดสิทธิบัตร มุ่งเป้าส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะ ด้วยการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตรด้านการแพทย์และสาธารณสุขโดยเร็ว ชี้สร้างมูลค่ากว่า 179 ล้านบาทต่อปี
วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมเล็งเห็นความสำคัญของการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทหลังจากได้รับจดทะเบียนแล้ว โดยสำรวจข้อมูลของคำขอที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของโครงการเร่งรัดสิทธิบัตรมุ่งเป้า และวางแผนการพัฒนาศักยภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
โดยผู้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรกว่า 58% อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือโอนสิทธิ และหลังจากที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กว่า 55% ได้จัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและอยู่ระหว่างดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีตามสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร รวมถึงมีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในช่องทางต่าง ๆ เช่น จำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ ตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าปลีก/ค้าส่ง

ตลอดจนการทดลองใช้จริงในต่างประเทศที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ได้แก่ ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ ซึ่งผลประกอบการที่ได้จากการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในการอนุญาตให้ใช้สิทธิ การโอนสิทธิ การจำหน่าย และใช้ประโยชน์โดยไม่ได้แสวงหากำไร มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นมากกว่า 179 ล้านบาทต่อปี
โครงการเร่งรัดสิทธิบัตรมุ่งเป้าจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้ยื่นคำขอให้สามารถนำสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมาใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าและยกระดับความน่าเชื่อถือให้ผลงาน เพื่อดึงดูดการลงทุนหรือการระดมทุนจัดตั้งบริษัท Spin-off การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับเอกชนที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมีความมั่นใจในการ Up-scale การผลิต การต่อยอดผลงานและทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน การหาผู้ร่วมวิจัยหรือผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการขอขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การวางแผนการผลิตและการจำหน่าย
โดยภาพรวมของการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับ 5 (พึงพอใจมากที่สุด) คิดเป็นร้อยละ 79.1 และระดับ 4 (พึงพอใจมาก) คิดเป็นร้อยละ 20.9 ซึ่งสาขาที่ได้รับความสนใจมาก คือ เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน (ร้อยละ 41.9) และเชื้อเพลิงชีวภาพ/เคมีชีวภาพ (ร้อยละ 37.2)
นายวุฒิไกรกล่าวอีกว่า หลังจากการดำเนินโครงการการเร่งรัดสิทธิบัตรมุ่งเป้าด้านนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาระยะหนึ่ง กรมเปิดรับคำขอสาขา “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food)” เพิ่มอีกสาขาหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่งกรมเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมด้านอาหารที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว