จ่อร้อง “ศาลปกครอง”เอาผิด พณ.ปัดคุมค่ารักษาพยาบาล

จี้พาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาล ขู่15 วันไม่คืบเตรียมยื่นศาลปกครอง

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ตัวแทนคณะฯ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้านราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อขอให้พิจารณากำหนดมาตรการดูแลค่าบริการด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคและประชาชนที่ใช้บริการได้รับความเป็นธรรม โดยมีนายวิชัย โภชนกิจ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับมอบหนังสือแทน

โดยหลังจากนี้ทางคณะอนุกรรมการจะขอติดตามผลสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายใน 15 วัน หากยังไม่ได้รับความชัดเจนอีกอาจจะพิจารณายื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป

“แม้ว่าค่ายาจะอยู่ในการควบคุมของ กกร. แต่ค่าบริการทางการแพทย์ยังไม่ได้ดูแลว่าผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากค่าบริการด้านสุขภาพมีราคาแพงมาก เช่น ค่าบริการผ่าตัดกระดูก 1 ครั้ง มีค่าวิชาชีพหมอถึง 140,000 บาท เมื่อรวมค่ารักษาแล้วเป็นเงิน 600,000 บาท ผู้บริโภคได้รับผลกระทบอย่างมาก”

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ประกอบด้วย 1) ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดการออกประกาศบริการสาธารณสุข เป็นบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 โดยให้ผู้ประกอบการส่งรายการราคาต้นทุนการรักษา ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษา เพื่อประกอบการกำหนดราคาควบคุม 2) กำหนดมาตรการระยะสั้นประกาศราคาสูงสุด หรือราคากลาง ค่ายา

ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการวิชาชีพ ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กองทุนหลักประกันสุขภาพ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนมาใช้ไปพลางก่อนจนกว่าจะกำหนดมาตรการตามข้อ 1 3) พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาค่าบริการรักษาพยาบาล ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพที่มีราคาแพง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้เข้าบริการที่จำเป็น และ4) ทบทวนมาตรการควบคุมราคายาและบริการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับสินค้าด้านสุขภาพอย่างผ้าอนามัย โดยให้แจ้งต้นทุนราคาและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง

“ปกติทางประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เป็นหน่วยงานที่คิดราคากลางค่าบริการเอาไว้แล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิกนอกเวลาด้วย”

อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ทางคณะอนุกรรมการจะเข้าร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและราคากลางที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับใช้ในการคิดค่าบริการสุขภาพ เมื่อพิจารณาให้บริการสุขภาพเข้าเป็นบริการควบคุม โดยพร้อมรับข้อคิดเห็นจากผู้ให้บริการด้วยว่ามีต้นทุนค่าบริการอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ตรงกันและประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย