GULF ผนึก AIS-สวพส. เดินหน้า Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย ตั้งเป้า 30 พื้นที่ใน 5 ปี งบฯลงทุน 150 ล้านบาท ปีแรกประเดิม 7 พื้นที่ นำร่อง 2 พื้นที่ในจังหวัดตาก
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า AIS ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาค และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดทำโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย
โดยนำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพัฒนาเครือข่าย ในอีก 5 พื้นที่ในปีนี้ รวมเป็น 7 พื้นที่ และมีเป้าหมายดำเนินการให้ครบ 30 พื้นที่ภายใน 5 ปี โดยวางงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการ 110-150 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบประมาณสำหรับการจัดตั้งเสาเครือข่าย แผงโซลาร์ไม่รวม Network จุดละ 3-5 ล้านบาท ส่วนในด้านค่าใช้จ่ายของอินเทอร์เน็ตนั้นทาง AIS ก็ร่วมสนับสนุนให้กับชุมชนด้วย
“ตลอดระยะเวลา 34 ปีที่ผ่านมา AIS เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความแข็งแรง โดยสามารถสร้างโครงข่าย 5G ครอบคลุมพื้นที่ 90% สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่า 20 ล้านครัวเรือน ไม่ใช่แค่เพื่อสร้างรายได้เท่านั้น แต่เพื่อให้คนไทยได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย โดยเราได้ดำเนินการใน 3 แกนหลักในด้าน ESG ทั้ง Drive Digital Economy, Promote Digital Inclusion และ Act On Climate ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งในเรื่องของการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Drive Ecosystem Economy)
เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้คนให้เข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมาย ภายใต้การเปลี่ยนแปลง การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน”
โดย AIS และพาร์ตเนอร์จะทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่า ชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้น ๆ อย่างแท้จริง และยั่งยืน ดังเช่น ชุมชนมอโก้โพคี จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดกว้างขวางขึ้น เพื่อสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง”
ด้านนายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า โครงการที่พัฒนาร่วมกับ AIS ครั้งนี้ มีแผนที่จะขยายเพิ่มไปอีก 5 จุดในปีนี้ ในพื้นที่จังหวัดตาก เชียงราย ลำพูน
โดยพลังงานไฟฟ้าที่นำไปติดตั้งให้จะเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทโซลาร์เซลล์ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนหลังคาเรือนของแต่ละชุมชนและความต้องการใช้ไฟของแต่ละชุมชน โดยหลักจะติดให้กับสถานที่สำคัญ ๆ ในชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น สถานพยาบาล อาคารทำการผู้ใหญ่บ้าน เป็นหลักก่อน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่ชุมชนจะถูกเรียกเก็บก็จะได้รับการยกเว้น ตามระบบอยู่แล้ว
“ตามแผนของบริษัทมีนโยบายที่จะมุ่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 40% ในปี 2035 แต่โครงการนี้จะไม่ได้ถูกนำมานับรวมเพราะไม่ใช่โครงการทางด้านธุรกิจ แต่เป็นการทำงานเพื่อสังคม”
นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
รวมถึงมีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่จึงต่อยอดโครงการโดยชักชวนพันธมิตร AIS มาร่วมเพื่อขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข สะท้อนถึงเจตนารมณ์ GULF ในการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาด
“ปีนี้ ทาง GULF ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น เดิมชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี นอกจากนั้นการเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5
ซึ่งทาง GULF ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน GULF จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชนเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน”
นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะมีการดำเนินการต่อไป อาจจะมากกว่าเป้าหมายที่มีการพูดคุยกันไว้ 30 ชุมชน เพราะความต้องการของชุมชนต่าง ๆ ยังมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ชุมชน
“ที่ผ่านมาทาง สวพส.ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่สูงที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 500 เมตร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 20 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัด ไปแล้วกว่า 38 โครงการ และกำลังจะทำเพิ่มอีก 44 พื้นที่ ใน 666 กลุ่ม โดยการช่วยเหลือชาวบ้านทำให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการลดพื้นที่ลดการใช้พื้นที่ป่าลง เช่น จากเดิมเคยปลูก 50,000 ไร่ ลดเหลือ 5,000 ไร่ แต่ว่าได้รายได้เท่าเดิม ซึ่งผลตอบรับหลังจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันสามารถคืนพื้นที่ได้แล้ว 7 แสนไร่”