บี.กริมผงาดผลิตไฟฟ้า5พันMW ทุ่มหมื่นล้านผุด2โรงใหม่เวียดนาม

บี.กริมตั้งเป้า 5 ปี ผลิตไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ จากสารพัดโครงการทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-ความร้อนร่วม-ลม ทั้งในและต่างประเทศ ลงทุน 10,000 ล้านบาท ร่วมพันธมิตรเวียดนาม ขึ้นโรงไฟฟ้า 2 แห่ง มั่นใจภาพรวมธุรกิจปี 2561 ฉลุย

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนการดำเนินงานของ บี.กริม ในการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2022 ว่า ปัจจุบันบริษัทมีการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 1,779 MW โดยในปี 2561 มีแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานความร้อนร่วม และพลังงานลม ทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 25% จากปีก่อน หรือเท่ากับ 2,091 MW จากผลการดำเนินงานล่าสุดไตรมาส 1/61 ปรากฏ บริษัทมีรายได้ 8,156 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าที่จะมีการพัฒนาตามแผนปี 2561 ประกอบไปด้วย การเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าใหม่ มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 445 MW แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 3 กำลังการผลิต 133 MW ได้ COD ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561, โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 4 กำลังการผลิต 133 MW, โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 5 กำลังการผลิต 133 MW โรงนี้คาดว่าจะ COD ในช่วงสิ้นไตรมาส 2/2561-ต้นไตรมาส 4/2561 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 7 โครงการ กำลังการผลิตรวม 31 MW กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 1 โครงการ ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 15 MW

“ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในเวียดนาม เพื่อขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง รวมกว่า 100 MW ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ จากก่อนหน้านี้ที่บริษัทร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 420 MW ส่วนไตรมาส 2/2561 การร่วมทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์มกับพันธมิตรรายอื่น ๆ ส่วนความคืบหน้าในการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนในการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรมอีกกว่า 70 MW และยังเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย”

พัฒนาระบบจัดเก็บพลังงาน

ส่วนทิศทางการทำงานในอนาคตของบริษัท บี.กริมจะมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 30% พร้อมกับลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าหลักจาก 80% เหลือ 70% ตามเป้าหมาย โดยขณะนี้มี “บี.กริมไดเวิร์สซิไฟล์” โครงการพลังงานทดแทน เพื่อให้สอดรับเทรนด์ผลิตพลังงานของโลก โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ถือว่ามีการพัฒนาเร็วมาก พร้อมกันนี้ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตามทิศทางการปรับเปลี่ยนเข้าไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบเรียลไทม์ โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจพลังงานต่างเริ่มหันมาสนใจเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้บริการมากขึ้น

ขณะเดียวกับบริษัทก็มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี การจัดเก็บพลังงาน (energy storage) ระเบบเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน (energy storage system) และระบบสายส่งอัตโนมัติ (สมาร์ทกริด) ซึ่งเป็นไปเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพพลังงาน โดยการพัฒนาระบบการจัดเก็บไฟฟ้า ทาง บี.กริมได้ขยายความร่วมมือโดยลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Korea Electric Power Corporation (KEPCO)

ชิมลางธุรกิจก๊าซ LNG 

ส่วนการดำเนินการภายในประเทศ กลุ่มลูกค้า บี.กริมส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยโรงงานสมัยนี้ส่วนใหญ่ก้าวเข้าสู่ “ยุคโรบอต” แล้ว ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าในโรงงานไม่สามารถเกิดปัญหาตกดับได้ ดังนั้นการรักษาเสถียรภาพของไฟฟ้าจึงมีความสำคัญ เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมอมตะนคร อยู่ที่ 770 MW ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าของ บี.กริม 90 MW จาก 5 โรง ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

“ในขณะนี้ บี.กริมได้ศึกษาร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ถึงแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์ม จากโจทย์ที่ต้องการเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมระบบในนิคมเพียงรายเดียว ซึ่งอาจจะเป็นการรวมกันของ บี.กริม-กฟภ. ตั้ง บริษัทร่วมทุนหรือ กฟภ.ลงทุนพร้อมนำ energy storage เข้ามาช่วย ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมระบบจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าแต่ละราย”

นอกจากนี้ บี.กริมยังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เนื่องจากขณะนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเข้ามาชวนลงทุน แต่คงต้องศึกษารายละเอียดของกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ชัดเจนก่อน

“เรามีความพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าโคเจเนอชั่นที่มี 20 กว่าโรงจะยังเป็นแบ็กอัพที่สำคัญ ทำให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และบิสซิเนสโมเดลส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ส่วนพลังงานทดแทนเราก็ทำ และเชื่อมั่นว่า ไม่ว่านโยบายของรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะอยู่แถวหน้าเรื่อง energy storage system” นางปรียนาถกล่าว