7 สมาคมเหล็ก โอดต้นทุนพุ่ง จี้รัฐถกสหรัฐเว้นภาษีนำเข้า

7 สมาคม โอดตลาดโลกผันผวนหนัก ต้นทุนเศษเหล็กขึ้น 10-12% จี้รัฐเจรจา “สหรัฐ” ยกเว้นมาตรการ 232 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-พัฒนาเหล็กสู่ชิ้นส่วน EV

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะรายงานถึงความคืบหน้าในการขอให้สหรัฐพิจารณายกเว้นการใช้มาตรการ 232 (National Security) ในการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีนำเข้าท่อเหล็กไทย 25% โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องประสานผู้นำเข้าให้ยื่นเรื่องกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐพิจารณาเป็นรายครั้ง ส่วนการขอยกเว้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมซึ่งเป็นอีกรายการสินค้าหนึ่งที่สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ล่าสุดทางคณะ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ได้เข้าพบนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไทยได้รับผลจากการใช้มาตรการ 232 ในการเก็บภาษีเหล็กของสหรัฐแล้ว โดยมาตรการดังกล่าวไม่เพียงส่งผลให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐได้ แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลกโดยสหรัฐได้ลดการส่งออกวัตถุดิบเศษเหล็ก และกว้านซื้อเหล็กแท่ง (เหล็กดิบ) เข้าไปเก็บสต๊อกจำนวนมาก นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเศษเหล็กปรับขึ้น 10-12% ทำให้ต้นทุนผู้ผลิตในโลกรวมถึงผู้ผลิตเหล็กไทย ปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้เกิดความผันผวนในอุตสาหกรรม

ทาง 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กไทย จะได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณากำหนดแนวทางในการยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทยบางประเภทที่ยังอยู่ในระดับการพัฒนาขั้น 1.0-2.0 ให้ขึ้นไปเป็นผู้ผลิตเหล็กที่มีคุณภาพสูงระดับ 4.0 โดยเฉพาะเหล็กสามารถใช้วัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อขอยกเว้นการใช้มาตรการ 232 ซึ่งทางสหรัฐยังไม่ประกาศประเทศที่ชัดเจนว่าประเทศใดได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าบ้าง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกเกิดความสับสนในขณะนี้ว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหนและจะสามารถส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐได้หรือไม่

“ขณะนี้มีเกาหลีใต้เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากการเจรจาจำกัดโควตาส่งออก 70% เป็นเวลา 3 ปี ขณะที่เม็กซิโก แคนาดา ซึ่งจะมีการเจรจาภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ได้รับการยกเว้นชั่วคราว ส่วนประเทศที่ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน ตุรกี จีน รวมถึงไทย”

ทั้งนี้ สหรัฐได้พิจารณาขยายระยะเวลาในการเจรจากับกลุ่มประเทศที่ยังเจรจาไม่สำเร็จอีก 1 เดือน จาก 1 พฤษภาคม 2561 เป็น 1 มิถุนายน 2561 ซึ่งไทยยังคงมีโอกาสที่จะเจรจา แม้จะถูกเก็บภาษีไปแล้วก็ตาม แต่ต้องพึ่งพาหลายหน่วยงานและภาครัฐในการเจรจา