กล่อมเปิดเสรีนำเข้า “ปลาป่น” โรงงานชี้เกมอาหารสัตว์ ผล FTA เปรู-ชิลี

สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย หวั่นลดภาษีนำเข้าชิลีเหลือ 5% กระทบผู้ผลิตในประเทศเดี้ยง พาณิชย์กล่อมเอกชน เอฟทีเอชิลี-เปรูไม่กระทบปลาป่นในประเทศ เปรูลดภาษีอีก 8 ปี ส่วนชิลีลดภาษี 0% ปี”63 แต่ผลิตได้น้อย

นายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เสนอให้มีการนำเข้าปลาป่นเสรี เพราะผู้ผลิตไก่เนื้อและกุ้งรายใหญ่ เกรงว่ากลัวองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) ต่อต้านรณรงค์ไม่ให้ผู้นำเข้าซื้อสินค้าไก่ กุ้งจากไทย ต้องใช้ปลาป่นที่ผ่านการรับรองจาก The International Fishmeal and Fish Oil Organi-zation (IFFO) ซึ่งในไทยมีเพียง 7-8 โรงงานที่ผ่านมาตรฐาน IFFO เพราะปลาในเขตเส้นศูนย์สูตรมีเป็น 100 สายพันธุ์ ทาง IFFO มีข้อมูลวงจรชีวิตปลาในเขตนี้น้อย จึงรับรองล่าช้า ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยจึงพยายามสร้างทางเลือกให้มีการนำเข้าเสรีปลาป่นมากและเร็วที่สุด

“ขณะนี้ยังต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าผู้ผลิตอาหารสัตว์ของอะไรบ้าง แต่ปกติที่ผ่านมาหากมีการนำเข้าจากอาเซียน ภาษีนำเข้าเป็น 0% อยู่แล้ว และในการนำเข้าปลาป่นจากชิลีตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มีการลดภาษีนำเข้าปลาป่นจากชิลี เหลือ 5% จากเดิม 15% ขณะที่เอฟทีเอไทย-เปรู กำหนดให้เป็นสินค้าอ่อนไหว ไทยไม่ลดภาษีการนำเข้าปลาป่น 15% ให้เปรู (ภาษีนำเข้า 10% บวกค่าพรีเมี่ยม 5%)”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ไทยจะผลิตปลาป่นได้ 3 แสนตันบวกลบ ซึ่งรวมเศษก้างหัวปลาทูน่าที่นำเข้าถูกต้อง ส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีประมาณ 80,000-90,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา

ด้านนายอำนวย เอื้ออารีย์มิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการโยนหินถามทางมากกว่า จริง ๆ แล้วปลาป่นในไทยยังมีพอใช้ เพียงแต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ควรเพิ่มราคารับซื้อบ้าง เพราะปัจจุบันมีการส่งออกปลาป่นถึงปีละ 80,000-90,000 ตันอยู่แล้ว และการทำข้อตกลงเสรีการค้าไทยกับชิลีและเปรูอีกไม่กี่ปีภาษีนำเข้าปลาป่นก็จะเป็น 0% แล้ว อีกทั้งการให้โรงงานผู้ผลิตปลาป่นไทยมีระยะเวลาในการปรับตัวด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 นางสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมและการกำหนดมาตรการรองรับ ผลกระทบจากการเปิดตลาดนำเข้าปลาป่นเสรี ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เพื่อชี้แจงแนวทางและพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-เปรู และเอฟทีเอไทย-ชิลี

นางสุทัศนีย์ กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคเอกชนกังวลคือ เปรูสามารถผลิตปลาป่นได้ 4-5 ล้านตันต่อปี หากมีการเจรจานำเข้าอาจจะกระทบต่อผลผลิตในประเทศ เนื่องจากเปรูไม่มีอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งในการประชุมวันนี้ ได้ชี้แจงรายละเอียดความคืบหน้าในการเจรจาเอฟทีเอไทย-เปรู ว่าขณะนี้ยังไม่มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าปลาป่น ทางกรมเจรจาอยู่ระหว่างเจรจาในรายละเอียด คาดว่าสินค้านี้จะเปิดตลาดเสรีเปรูอีก 8 ปีข้างหน้า

ขณะที่เอฟทีเอไทย-ชิลี กำหนดจะลดภาษีปลาป่น 0% ในปี 2563 แต่ไม่น่ากังวลเช่นกัน เพราะชิลีสามารถผลิตได้ปีละ 40,000-50,000 ตันเท่านั้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้ปลาป่น 700,000 ตัน แต่ผลิตได้ 300,000 ตัน ที่เหลือ 400,000 ตัน สามารถใช้สินค้าอื่นทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม ไทยส่งออกปลาป่นต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือน ปี 2561 ส่งออก 50,000 ตัน ส่วนปี 2560 ส่งออกได้ 97,000 ตัน ส่วนราคาขายปลาป่นยังทรงตัวที่ 39-40 บาทต่อ กก. (โปรตีน 60%)