ค้านตั้งบริษัทร่วมทุนยาง ไม่ชำนาญสู้พ่อค้าไม่ได้

ส.อ.ท. ห่วงยอดส่งออกยาง 3 เดือนหด 65% กระทบกำลังซื้อ “ทศพล ขวัญรอด” หวั่น กยท.จับมือสถาบันเกษตรกรตั้งบริษัทร่วมทุนสู้พ่อค้าไม่ได้ ควรใช้รูปแบบค้าขายผ่านสหกรณ์เหมือนเดิม ค้านมาตรการหยุดกรีดยางชี้สูญงบฯเปล่าประโยชน์ แนวชาวสวนทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้การส่งออกไทยในปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องตลอด 3 เดือนของปีนี้มียอดส่งออกเฉลี่ยเกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัว 7-8% แต่สินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารายังติดลบถึง 65% ทำให้กำลังซื้อแผ่วลง ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ หากสามารถแก้ไขประเด็นนี้ได้จะทำให้กำลังซื้อขยับตัวดีขึ้น

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ เข้ามารักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศว่า น่าเป็นห่วง เพราะผู้ประกอบการจะมีความชำนาญมากกว่า เครื่องจักรแปรรูปยางก็ทันสมัย ควรใช้ในรูปแบบสหกรณ์ไม่ใช่ในรูปแบบบริษัท โดยควรปรับปรุงโรงงานของ กยท.ที่เดิมเป็นขององค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)ให้ทันสมัย เพื่อรองรับการเข้ามาทำธุรกิจการค้าของ กยท. ซึ่ง อ.ส.ย.ก็มีสวนยางอยู่แล้ว 4 หมื่นกว่าไร่ ทำพอเลี้ยงตัวเองได้

“ไม่เห็นด้วยที่นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์มีมาตรการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง 3 เดือนแล้วหาเงินมาชดเชยการขาดรายได้ เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ไม่ยั่งยืน ควบคุมไม่ให้ชาวสวนลักลอบกรีดยางยาก ยังมีการลักลอบกรีด ราคายางจึงไม่ขยับขึ้น”

การแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มน้ำมันตกต่ำควรเดินตามการทำเกษตรทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งพื้นที่สวนยางออกมาครอบครัวละ 1-2 งานหรือ 1 ไร่ มาปลูกพริกไทย ปลูกเหรียง ทำประมง เลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,500-2,000 บาท ส่วนสวนยางเมื่อไม่กรีดยางขาย ก็เท่ากับเป็นที่เก็บสต๊อกยางในตัว กยท.ต้องนำงบฯมาส่งเสริมชาวสวนทำอาชีพเสริม