อียูส่งสัญญาณไทยแก้ IUU ไปอีก4เดือน หลังตรวจล่าสุดไม่พอใจข้อมูลไม่ตรงกัน คาดยืดเวลาต่อใบเหลือง

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯได้เรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงฯ เพื่อขอรับทราบความชัดเจน และข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU Fishing ) ภายหลังมีกระแสข่าวว่า ผลการตรวจสอบการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไอยูยูของไทยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ของสหภาพยุโรป (อียู) ยังไม่เป็นที่พอใจใน 2 เรื่อง จนทำให้อียูไม่พิจารณาปลดใบเหลืองการประมงไทย จึงจะเข้ามาตรวจความคืบหน้าอีกครั้งใน 4 เดือนข้างหน้า หรือประมาณ ส.ค.2561

ทั้งนี้ 2 เรื่องที่อียู ยังกังวลการแก้ปัญหาไอยูยู ของไทยคือ การบริหารจัดการกองเรือ และการบริหารคำสั่งการปกครองและการบังคับคดี ซึ่งกรณีการบริหารจัดการกองเรือ เป็นภารกิจของกรมเจ้าท่า ซึ่งเมื่อครั้งอียูเข้าตรวจสอบข้อมูลปรากฏข้อมูลไม่ตรงกับฐานข้อมูล ทั้งเรื่องจำแนกจำนวนเรือและระบบเรือ และเมื่ออียูเข้าตรวจสอบกับข้อมูลของกรมเจ้าท่าก็เป็นตัวเลขจำแนกจำนวนเรือและระบบเรือและตัวเลขการจัดกลุ่มเรือ ทำให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน และตอบคำถามกับทางอียูไม่ได้ รวมไปถึงกรณีการบริหารคำสั่งการปกครองและการบังคับคดีควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน หากกรณีออกคำสั่งการปกครอง จะต้องมีระบบ การติดตาม กรณีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และชั้นศาลได้จัดสัมมนาแล้ว และกำหนดจะจัดสัมมนาอีกครั้ง เพื่อวางกรอบระยะเวลาในการดำเนินคำสั่งการปกครองและการจัดการคดีให้มีความชัดเจนมากขึ้น หาก 2 กรณีนี้ มีความชัดเจนและก้าวหน้าตามระยะเวลา ภายใน 4 เดือน อียูจะรับรายงานและเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมผู้บริหาร นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ จึงได้สั่งการให้กรมประมงดำเนินการ 5 องค์ประกอบ คือ เรือ เครื่องมือประมง วิธีการทำประมง พื้นที่การทำประมง และ เรื่องอื่นๆ และกรณีการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขอให้ทางสำนักกฎหมายของกรมประมงดำเนินการตรวจสอบคำสั่งที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง เพื่อให้อธิบดีกรมประมงหรือเจ้าหน้าที่ประมงในจังหวัดต่างๆ ปฎิบัติงานให้ถูกต้องเรียบร้อย เนื่องจากการยึดหรืออายัดเครื่องมือประมง หากไม่เป็นไปตามอำนาจการปกครองจะกลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบกับขณะนี้ชาวประมงทักท้วงว่า การออกกฎหมายของกรมประมงดำเนินการเกินกว่ากติกาของอียูซึ่งทำให้อาชีพประมงเสียหาย จึงขอให้ภาครัฐรับฟังความเห็นภาคประชาชนด้วย และขอให้กรมประมง รายงานผลตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 8/2561 ลงวันที่ 24 เมษายน 2561 ต่อ รมว.เกษตร

ส่วนทางด้านพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ณ กรมประมง ว่าศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) ถือเป็นหน่วยงานสำคัญในการควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามกฎ กติกา อย่างครบวงจร ตั้งแต่การควบคุมเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ควบคุมการทำประมง เช่น พื้นที่ทำประมงที่ถูกต้อง พฤติกรรมการทำประมงอย่างถูกต้องตามเครื่องมือ จนถึงควบคุมการใช้แรงงานบนเรือประมง ที่สามารถส่งข้อมูลพฤติกรรมและเส้นทางการทำประมง ระหว่างการออกทำประมงให้ศูนย์ PIPO เป็นฐานในการเปรียบเทียบกับข้อมูลที่เรือต้องแสดงในการใช้แรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบทั้งก่อนออกและหลังกลับจากการทำประมง

ดังนั้น ศูนย์ FMC จึงต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาเทคนิคของระบบติดตามเรือ (VMS) ด้านข้อมูล โดยรวบรวมและสอบทานทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงของประเทศไทย จากทุกหน่วยงาน ทั้งกรมประมง กรมเจ้าท่า ศปมผ. กระทรวงแรงงาน ตำรวจ ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย โดยจัดชั้นความเสี่ยงตามพฤติกรรมการทำประมง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจะนำมากำหนดเป็นชั้นความเสี่ยงของเรือประมงที่แม่นยำ ซึ่งจะทำให้ศูนย์ PIPO และหน่วยตรวจในทะเล สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างชัดเจน ตรงตัวคนทำผิด ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะได้รับความสะดวกรวดเร็ว ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว ศูนย์ FMC จะต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันทีด้วย โดยเชื่อมโยงงานกับฝ่ายตำรวจ เช่น สัญญาณ VMS ขาดหาย การรุกล้ำเขตทำประมงชายฝั่ง การออกทำประมงนอกเขตประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และพฤติกรรมการทำประมงและขนถ่ายสินค้าในการทำประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการพัฒนาบุคลากร การดำเนินการให้เกิดผลการทำงานตามที่กล่าวข้างต้นให้ชัดเจน จับต้องได้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้ ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมการทำประมงในพื้นที่จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนอยู่สม่ำเสมอ